3. สร้างความแตกต่าง
ต่อพงศ์ กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มธุรกิจโจทย์ที่ตั้งไว้ คือ ทุกอย่างต้องแตกต่าง
“ตั้งแต่วันแรก เราบอกว่า ความอร่อย ถ่ายรูปไม่ได้ แต่ความสวยถ่ายรูปได้ สิ่งที่ลูกค้าเห็นในออนไลน์ เขาไม่รู้หรอกว่า อร่อยหรือไม่อร่อย เพราะฉะนั้นอาหารทุกจานของผมต้องถ่ายรูปสวย”
คำว่า “ต้องถ่ายรูปสวย” นำสู่การออกแบบโลโก้ และตกแต่งที่ต่างจากร้านชาบูที่มีก่อนหน้า แต่งเป็นญี่ปุ่นหมด ใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้ ไฟสลัวๆ ใช้สีแดง สีดำ ความตั้งใจ คือ ต่อให้เป็นมือถือห่วยที่สุด ถ่ายรูปร้านแล้วต้องแชร์ได้ นำสู่การทำให้ร้านสว่างที่สุดเท่าที่จะทำได้ เหมือนเข้าไป 7-Eleven รวมทั้งใช้สีเหลืองเป็นหลัก
ความแตกต่างอีกเรื่อง คือ ร้านชาบูก่อนหน้านี้เป็น Fixed Desk ทั้งโต๊ะและเก้าอี้เลื่อนไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วความสนุกของการกินชาบู คือสังสรรค์กับเพื่อน กับครอบครัว Penguin Eat Shabu จึงใช้เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวทั้งหมด
“คุณมา 30 คน อยากจัดเป็นโต๊ะกลม ขอให้บอกเราก่อนเราจัดให้ได้ เป็นความเหนื่อยเรา แต่ความเหนื่อยเราไม่มีต้นทุน เราอยากให้ลูกค้าเข้ามาแล้วฟินถ่ายรูปแชร์ ชั่วโมงครึ่งที่ให้เขากิน 1 ชั่วโมง อีกครึ่งชั่วโมงถ่ายรูป”
4.สร้างตลาดด้วยออนไลน์
2-3 เดือนแรกร้านไม่ขาดทุน แต่ก็ไม่มีกำไร เรื่องต่อมาที่ธนพงศ์ทำ คือเปิดเฟสบุ๊คที่ล่าสุดมีแฟนเพจ 500,000 ราย
“เฟสบุ๊คไม่ได้ทำเฉพาะ Marketing แต่ทำหน้าที่ Research ด้วย ทุกอย่างบนออนไลน์ทิ้งรอยเท้าไว้หมด ข้อมูลคู่แข่ง คอมเม้นต์ ข้อดีข้อเสีย ปัจจัยที่จำเป็นต่อการทำธุรกิจเราเรียนรู้เกือบทุกอย่างผ่านเฟสบุ๊ค”
เดือนแรก เมนูมีราคาเดียว คือ 359 บาท ขายไประยะหนึ่งคำนวณแล้วพบว่า รายได้ไม่คุ้มค่าใช้จ่ายแน่นอน ตอนนั้นเฟสบุ๊คเปิดมา 20 กว่าวัน มี 7,000 Like คือ มี 7,000 คนรู้จักร้านแล้ว จึงทำการบ้านต่อ นำข้อมูลมาศึกษา Profile
“ดูว่า คนกินร้านเราคือใคร จบการศึกษาที่ไหน ขับรถอะไร ก่อนหน้านี้ไปกินอะไร ทำให้เรารู้นิสัยและพฤติกรรม ใครเป็นลูกค้า ทำให้กล้าเพิ่มราคาเป็น 459 บาท และ 659 บาท ซึ่งลูกค้าก็ยังเข้าร้าน“
กระนั้น เมื่อคำนวณความเป็นไปได้ในการขาย ถ้าลูกค้าเต็มร้าน ขายหัวละ 359 บาท อาจได้วันละ 20,000-25,000 บาท แต่ถ้าขาย 659 บาท อาจได้ถึง 50-60,000 บาทต่อวัน นำสู่การเน้นทำโปรโมชั่นส่วนหลังใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นเช่น เดือนไหนมีสต๊อกเนื้อจากต่างประเทศเข้ามาก็ทำโปรโมชั่นเนื้อ เน้นความต้องการของตลาด ทำลงเฟสบุ๊ค
ปัจจุบัน สัดส่วนรายได้มากกว่า 50% มาจากราคาขาย 659 บาท ต่อหัวเทียบกับช่วง 6 เดือนแรกอยู่ที่เพียง 15%
ธนพงศ์ กล่าวว่า จุดพลิกผันจริงๆ คือ มีบล็อกเกอร์มาทานที่ร้าน ชอบ แล้วเขียนเรื่องโพสต์ความนิยมพุ่งสูงอย่างรวดเร็ว หลังจากเดือนที่ 2 กำไรเดือนละ 5 แสน จากนั้นกำไรตลอด