ย้อนหลังไปกว่า 20 ปีที่แล้วที่เชนไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้ง 3 แบรนด์คือเทสโก้ โลตัส บิ๊กซี และคาร์ฟูร์ (ในช่วงเวลานั้นยังทำตลาดอยู่ในบ้านเรา) ต่างพบจุดลงตัวด้วยฟอร์แมตสโตร์ที่หลากหลายสามารถปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อม และกำลังซื้อในแต่ละโลเกชั่นต่างๆ ที่จะขยายสาขาเข้าไปได้ ทำให้ช่วงเวลานั้น พื้นที่ขายของไฮเปอร์มาร์เก็ตของทั้ง 3 ค่าย ต่างขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งแน่นอนว่า ส่วนหนึ่งของการเร่งขยายสาขานั้นยังมีเรื่องของกฎหมายผังเมืองที่จะเริ่มจำกัดพื้นที่การเปิดร้านค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ตเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
เช่นเดียวกับเรื่องของการขยายสาขาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ไฮเปอร์มาร์เก็ตแต่ละรายยังมีการพัฒนาสเตปการทำตลาดของไฮเปอร์มาร์เก็ตจาก “Basic Low Price” มาสู่ “High Image Low Price” ที่ต้องมีการปรับน้ำหนักการนำเสนอสินค้าและการทำตลาดในหมวดสินค้าที่ต้องใช้อารมณ์เข้ามามีส่วนในการตัดสินใจมากขึ้น อย่างสินค้าในกลุ่มเแฟชั่น
การยกระดับภาพลักษณ์ของสโตร์ตัวเองให้ก้าวข้ามจากแค่การขายของราคาถูกที่ใช้ในชีวิตประจำวัน มาสู่การเติมเต็มในเรื่องของรสนิยมในการใช้ชีวิต จำเป็นที่จะต้องมีการหาสินค้าที่มีดีไซน์ที่ดี คุณภาพใช้ได้ ในราคาที่ไม่สูงนักตามคอนเซ็ปต์การทำตลาดของร้านค้าประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต
ผู้เล่นแต่ละรายจึงมีการปั้นสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ที่ตอบโจทย์รสนิยมการใช้ชีวิตของลูกค้า โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มแฟชั่น เพิ่มเข้ามาเติมเต็มกลยุทธ์การยกระดับภาพลักษณ์ในครั้งนั้น
ช่วงเวลาดังกล่า เราจึงได้เห็นการเปิดตัวสินค้าแฟชั่นคุณภาพดี ซึ่งเทสโก้ โลตัสให้ความสำคัญกับการทำตลาดสินค้าเสื้อผ้า มีการนำแบรนด์หลักๆ ของตัวเองที่วางขายในยูเคอย่าง F&F ที่จับคนทำงานทั่วไป และแบรนด์แอสซายน์ที่จับวัยรุ่น เข้ามาวางขายในสโตร์ โดยให้พื้นที่เพื่อดิสเพลย์สินค้ามากกว่าในอดีต
ไม่เพียงเท่านั้น เทสโก้ โลตัสยังมีการเปิดตัว "ร้านเสื้อผ้าแอสซายน์" แห่งแรกในสาขาปากเกร็ดเมื่อ 4 - 5 ปีที่แล้ว จากเดิมเป็นแบรนด์เสื้อผ้าที่มีจำหน่ายในแผนกเสื้อผ้าแฟชั่น ที่มียอดขายเติบโตดี จึงได้แยกออกมาพัฒนาเป็นร้านสแตนด์อะโลน อยู่ภายในศูนย์
เรียกได้ว่า เป็นการเติมเต็มให้ภาพของการเป็นร้านค้าปลีกที่ขายสินค้าแฟชั่นคุณภาพ และดีไซน์ที่ดี ในราคาที่ไม่สูงนักของตัวเองโดดเด่นมากขึ้น