Happiness Workplace
ในอีกแง่หนึ่ง การที่เอพีเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างเห็นได้ชัดทั้งในแง่รายได้ และรางวัลที่ได้รับการยอมรับจากเวทีต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากความเข้มแข็งของวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่า องค์กรขนาดใหญ่อย่างเอพีที่มีพนักงานกว่า 2,000 คน ประกอบไปด้วยหน่วยงานต่างๆ และคนทำงานในหลายเจนเนอเรชั่น มีวิธีการหลอมรวมทางวัฒนธรรมองค์กรให้แข็งแกร่งได้อย่างไร
คุณอนุพงษ์ กล่าวว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เอพีได้ปรับวิธีการทำงาน โดยพยายามทำใน 3 เรื่อง ได้แก่ การนำเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาใช้ให้เป็นประโยชน์และสร้างอินโนเวชั่นใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์กลยุทธ์องค์กรด้านการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับลูกค้า แต่สิ่งสุดท้ายที่สำคัญมากกว่านั้น และซื้อไม่ได้ด้วยเงินคือ บุคลากร ซึ่งเป็นเรื่องที่เอพี ไทยแลนด์ มุ่งเน้นเป็นอย่างมากที่จะสร้างบรรยากาศการทำงาน และวัฒนธรรมองค์กรให้คนทำงานมีความสุข
“ถ้าคนในองค์กรทำงานอย่างมีความสุข เขาย่อมมีพลังงานที่จะสร้างคุณภาพชีวิตให้คนอื่นได้ซึ่งการทำงานอย่างมีความสุข ไม่ได้แปลว่าทำงานไม่หนัก หรือทำงานแล้วไม่มีปัญหา แต่ผมจะบอกพนักงานเสมอว่า ให้เขาประเมินตัวเองว่า ตื่นมาแล้วอยากไปทำงานมั้ย เพราะบางครั้งปัญหาหรืออุปสรรคมันคือความท้าทายที่สนุกเหมือนกัน ดังนั้น คำถามว่า ตื่นมาแล้วยังอยากไปทำงานอยู่มั้ย จึงเป็นเรื่องสำคัญ แล้วก็ให้พวกเขาฝึก Outward Mindset สัก 6 เดือน วัตถุประสงค์หลักของผม คืออยากให้พนักงานฝึกเพื่อตัวเอง ไม่ใช่เพื่อองค์กร แต่องค์กรจะเป็นผลพลอยได้ถ้าคุณมีความสุขในการทำงาน และเข้าใจความต้องการของคนอื่นที่ต้องร่วมทำงานด้วย”
นั่นหมายความว่า Outward Mindset กลายเป็นเบื้องหลังที่ทำให้พนักงานมีความสุขในการทำงานนั่นเอง และถูกนำมาใช้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาโดยร่วมมือกับเทอรี่ วอร์เนอร์ อาจารย์นักวิจัยด้านจิตวิทยา ผู้ก่อตั้งสถาบัน Arbinger Institute ประเทศสหรัฐอเมริกาในการออกแบบการอบรมจนสร้างจุดเปลี่ยนให้กับเอพี ให้กลายเป็นองค์กรที่ใช่สำหรับพนักงานเพื่อออกโปรดักต์ที่ใช่ให้กับลูกค้า และสร้างแบรนด์ที่ใช่ครองใจผู้บริโภค
“Outward Mindset เข้ามามีบทบาททำหน้าที่เป็นกลไกในการเชื่อมโลกเก่ากับโลกใหม่ รวมถึงเชื่อมใจคนจากหลายหน่วยงานให้ทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขปราศจากความขัดแย้งเพราะในทฤษฎี Outward Mindset คือการมองคนให้เป็นคน เพราะแม้จะไม่มีปัญหาเรื่องคนรุ่นเก่าคนรุ่นใหม่ก็ตาม แต่องค์กรทุกแห่ง โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่จะมีคอร์ปอเรทไซโล ต่างคนต่างมีกลุ่มก้อนของตัวเองซึ่งไม่ต่างไปจากการแบ่งกลุ่มคนในรุ่นต่างๆ ที่ผ่านมาผมมักเจอกับปัญหาฝ่ายการเงินไม่เข้าใจฟรอนท์ไลน์ต่างคนต่างไม่เข้าใจกันเหมือนกัน แต่ทั้ง 2 ฝั่งต่างมีดีด้วยกันทั้งคู่ Outward Mindset จึงเข้ามาเป็นตัวช่วยในการมองคนเป็นคน แปลว่าเวลามีปัญหาขัดแย้งแต่ละฝ่ายให้เริ่มต้นมองเขาด้วย 3 ประเด็นนี้ก่อน คือ คนๆ นั้นมีจุดประสงค์อะไร หรือต้องการอะไรใน Objective, มีความต้องการหรือ Need อะไร และความท้าทาย Challenge ของเขาคืออะไร ซึ่งการจะเข้าใจ 3 เรื่องนี้ได้ต้องอาศัยการถามเยอะๆ ฟังเยอะๆ เพื่อให้เกิดการทำความเข้าใจ ถ้าสามารถตอบ 3 ข้อนี้ได้ก็จะสามารถหาทางออกร่วมกันได้ด้วยความเข้าใจกัน ซึ่งผมใช้ Outward Mindset เป็น Key Ingredient ขององค์กรที่บังคับให้ทุกคนต้องเรียนและฝึกจนเกิดเป็นนิสัยในการทำงานร่วมกัน”