พัทธมน ย้ำว่าวัตถุประสงค์ของ VANZTER นั้น ทำขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาส และเพิ่มทางเลือกให้กับช่างช่างฝีมือในวงการแต่งรถสไตล์แว้น เพื่อให้มีรายได้เพียงพอและสามารถลดปัญหาของสังคมได้
“การแต่งรถแว้นของไทย เป็นความสวยงามในรูปแบบหนึ่ง มีคุณค่าเชิงสุนทรียะ สะท้อนถึงประเพณีวัฒนธรรม การแต่งรถแบบไทยๆ ด้วยสีที่จัดจ้าน รอยเชื่อมที่ประณีต อย่างสีที่นิยมมากคือ “สีรุ้ง” ที่เกิดจากการอโนไดซ์ไทเทเนียม ก็เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นมากๆ และได้รับการยอมรับจากประเทศเพื่อนบ้าน ถึงความสวยงามของการแต่งรถซิ่งสไตล์ไทย
หลายๆ คน มีฝีมือดีมาก เราต้องสร้างพื้นที่ให้เขาในรูปแบบอื่นๆ การเข้าอู่ครั้งต่อไปของเด็กแว้น อาจจะมีบริบทที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่แค่แต่งรถเพื่อซิ่งแต่จะเป็นผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์อื่นๆ ที่แสดงตัวตนของพวกเขาได้ เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างการยอมรับด้านทักษะความสามารถในสังคมกระแสหลักมากขึ้น”
ที่ผ่านมา VANZTER ถูกนำไปจัดแสดงในรูปแบบงานศิลปะมาแล้วหลายครั้ง เช่น
Object Design “วาลว์เปิด โลกเปลี่ยน”
การแสดงออกเชิงสัญญะของเครื่องดนตรีที่มีหน้าที่สร้างสุนทรียะ เครื่องดนตรีสไตล์วินเทจ มีความหมายถึงการนึกถึงความหลัง (Nostalgia) ในยุคที่รถมอเตอร์ไซค์ 2 จังหวะเฟื่องฟู (90s)
Product Design “ใดๆ ในโลกล้วนไทเท”
เป็นงานจัดแสดงของตกแต่งบ้านที่กลมกลืนไปด้วยความขัดแย้งและความคิดขบถในตนเอง จากสุนทรียะการตกแต่งรถมอเตอร์ไซค์สไตล์แว้น เน้นการโชว์ความสวยงามพื้นผิวของเนื้อแท้วัสดุจริงด้วยวัสดุน้ำหนักเบา ไล่ระดับสีสันสวยงาม