GMM Music คือหนึ่งกรณีศึกษาของการปรับตัวองค์กรให้เข้ากับสภาพการแข่งขันที่เปลี่ยนไปได้อย่างดี และพิสูจน์ให้เห็นว่าในวันที่วงการเพลงถูกดิสรัปชั่นมาหลายครั้ง แต่ GMM Music ก็ยังสามารถก้าวผ่านมาได้ ด้วยความเชื่อของ คุณภาวิต จิตรกร CEO สายธุรกิจ GMM Music ที่ว่า “เพลงไม่มีวันตาย”
BrandAge Online มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณภาวิต จิตรกร ที่ผันตัวจากถนนสาย Agency โฆษณามาสู่เส้นทางเสียงดนตรี เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของการเข้ามามีบทบาทและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจของ GMM Music จนมีรายได้กว่า 4,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา
Executive Interview นี้ คุณภาวิตจะบอกเล่าเรื่องราวการทำงาน การปรับโครงสร้างองค์กร การสร้างรายได้ สร้างคน เรียนรู้วัฒนธรรม และเรียนรู้คนผ่านมุมมองของ “มะพร้าวนอกสวน” ที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ให้กับ GMM Music อย่างมากมาย
BrandAge Online : ธุรกิจเพลงถูกดิสรัปชั่นอยู่บ่อยครั้ง ผลกระทบเหล่านั้นให้อะไรกับเราบ้าง
ภาวิต : ธุรกิจเพลงคือธุรกิจที่ถูกดิสรัปท์อยู่ตลอดเวลา แต่คนจะแยกจะไม่ออกว่าถูกดิสรัปท์ที่ตรงไหน คนจะพูดว่าเพลงกำลังจะตาย แต่สิ่งที่อยากบอกคือ ตัวที่ถูกดิสรัปท์ไม่ใช่เพลง แต่คือ Device ที่เล่นเพลงถ้าให้เล่าประวัติศาสตร์สั้น ๆ แต่ก่อนเราขายเทป เรามีเครื่องเล่นเทป จากนั้นเดินสู่เครื่องเล่นซีดี จากซีดีเป็นดาวน์โหลดริงโทน เราปรับตัวเป็น MP3 แกรมมี่เป็นบริษัทเดียวที่ขาย MP3 เป็น Physical Product เป็นมูลค่า 500 - 600 ร้อยล้านบาท จนกลายเป็นสตรีมมิ่ง
สิ่งที่ดิสรัปชั่นทุกครั้งทำอะไรเราไม่ได้ เพราะเรามีสติ เราแยกออกว่ามันดิสรัปชั่นที่ตรงไหน เราเชื่อว่าเพลงไม่มีวันตาย เพลงต่อให้ฟังยุคไหนคนก็มีความสุขเมื่อได้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นเพลงเก่าหรือเพลงใหม่ ถ้าอีกแง่ของธุรกิจ หลายคนยังคิดว่าแกรมมี่ยังขายเทป ขายซีดีอยู่ เพราะเราไม่ได้ทำการประชาสัมพันธ์มากนักว่ารายได้เรามาจากไหน
รายได้ 4,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมามาจากไหน ? ผมต้องขอบอกกำไรเหล่านี้มากจากการปรับตัวที่เชื่อในเรื่องของการปรับโครงสร้าง ดมกลิ่นให้ไว สร้างทีมให้ทัน ต้องแยกให้ออกว่าอะไรคือการดิสรัปชั่น สึนามิจะมาแล้วพึ่งสร้างเขื่อนก็ไม่ช่วยอะไร สิ่งที่เราต้องทำคือ ไม่ใช่การดมกลิ่นให้ไวหาทางออกให้เจอ หาทางออกให้เจอมันไม่ได้ช่วยอะไรถ้าเราคิดแนวคิดออกแต่ไม่มีคนทำ สิ่งที่จะเกิดได้ในการปรับตัวเดินหน้าคือเดินไปด้วยคนทำ มีวิสัยทัศน์ต้องมีคนทำ ไม่มีคนทำเดินหน้าไม่ได้ รายได้ของแกรมมี่เมนหลักไม่ได้มาจากเทปซีดี เรามีรายได้จากดิจิทัลจำหน่ายรายได้หลัก 4 ตัว
1. Artist Management and Sponsorship มูลค่า 1,408 ล้านบาท คิดเป็น 35%
2. Digital Music มูลค่า 1,123 ล้านบ้าน คิดเป็น 28% ซึ่งส่วนนี้ถือเป็น Recurring Revenue ที่ทำยอดได้เอง และทำให้บริษัทอยู่รอดได้ด้วยรายได้หมุนเวียนเป็นพันล้านต่อปี
3. ธุรกิจ Showbiz มูลค่า 524 ล้านบาท คิดเป็น 13%
4. ธุรกิจบริหารจัดการลิขสิทธิ์มูลค่า 313 ล้านบาท คิดเป็น 8%
เมื่อรวม 4 รายได้หลักถือเป็นรายได้ของบริษัทที่เกิน 80% ในขณะที่เทป ซีดี และอื่นๆ มีรายได้ 345 ล้านบาท คิดเป็น 9% ของธุรกิจ