การตอบแทนสังคมที่ฝังลึกในดีเอ็นเอ
หากเทียบกับจำนวนโครงการต่างๆ หรืองบประมาณที่บริษัทแห่งนี้ช่วยเหลือสังคมในแต่ละปี แต่สิงห์เลือกที่จะเป็นองค์กรที่ใช้การกระทำแทนคำพูดหรือการสื่อสารออกไปสู่สาธารณะด้วยความเชื่อที่ว่า การตอบแทนสังคมเป็นหน้าที่ขององค์กรที่จะต้องทำเมื่อมีโอกาส จึงไม่คิดว่านี่คือเครื่องมือทางการตลาดเหมือนที่ตำราบอกไว้ไม่แปลกที่คนในสังคมส่วนใหญ่มักจะรับรู้เรื่องราวการช่วยเหลือสังคมของสิงห์จากประสบการณ์จริงที่เขาได้รับ
ความรับผิดชอบต่อสังคมโดยไม่หวังผลนอกจากความอยากทำ และทำมาอย่างต่อเนื่อง 87 ปีนี้เอง จึงเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จของรางวัลในครั้งนี้ โดยคุณจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวถึง การตอบแทนสังคมของสิงห์ว่าเป็นสิ่งที่อยู่ในดีเอ็นเอมาเนิ่นนาน และถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ย้อนกลับไปตั้งแต่พระยาภิรมย์ภักดีผู้บุกเบิกสิงห์รุ่นแรก
“การรับผิดชอบต่อสังคมถือเป็นเรื่องที่พระยาภิรมย์ภักดีฝากไว้กับลูกหลาน เรามีวันนี้เพราะทุกคนให้การสนับสนุนในเมื่อเราได้รับโอกาสนั้นมา เราต้องตอบแทน ดังนั้นหากหน่วยงานใดไม่ว่าภาครัฐ เอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของสังคม ต้องการความช่วยเหลือในด้านใด เราจะยื่นมือเข้าไปช่วยทันทีผมจึงไม่รู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นซีเอสอาร์แต่คิดว่าเป็นเรื่องที่องค์กรพึงทำเพื่อตอบแทน ดูแลและสร้างความแข็งแรงให้แก่สังคมและเราทำมาก่อนที่จะมีคำว่า CSR เกิดขึ้นด้วยซ้ำ ดังนั้นมุมมองการตอบแทนสังคมหรือมีส่วนร่วมต่อการรับผิดชอบสังคมในมุมของเราจึงไม่ใช่ประเด็นในการทำเพราะต้องการสื่อสาร เพราะเราถูกสอนให้ทำเรื่องเหล่านี้ในลักษณะปิดทองหลังพระ”
จากนโยบายพระยาภิรมย์ภักดีสู่การลงมือปฏิบัติที่ผู้บริหารแต่ละรุ่นทำให้ทุกคนเห็นเป็นรูปธรรม จากคนในตระกูลภิรมย์ภักดีไปสู่ผู้บริหารมืออาชีพ ล้วนถูกถ่ายทอดลงมาจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรทั้งพนักงาน ตลอดจนเครือข่ายผู้แทนจำหน่ายสินค้า จะมีดีเอ็นเอการเป็นผู้ให้ติดตัวอยู่ทุกคน จนกระทั่งผลิดอกออกผลเป็นเครือข่ายกลุ่มจิตอาสาภายใต้ชื่อ “สิงห์อาสา” ที่กำเนิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เพื่อช่วยเหลือและนำของไปร่วมบริจาคให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม จนถึงวันนี้สิงห์อาสามีเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น และขยายไปในหลากหลายกลุ่ม ไม่เพียงเฉพาะแค่พนักงานจิตอาสาของบริษัทเท่านั้น แต่ยังขยายไปยังเครือข่ายสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัย, สถาบันอาชีวศึกษา, นักศึกษาแลกเปลี่ยนนานาชาติ (Expat) รวมไปถึงเครือข่ายกู้ภัย และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ให้กลายมาเป็นพลังสำคัญของสิงห์อาสากระจายอยู่ตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศ นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไมสิงห์จึงเป็นหน่วยงานเอกชนแรกๆ ที่เข้าถึงพื้นที่ที่ประสบปัญหา และให้ความช่วยเหลือได้รวดเร็วก่อนใคร
COVID-19 บทพิสูจน์การดูแลแบบครอบครัวสิงห์
แน่นอนว่าการทำธุรกิจพร้อมดูแลสังคมไปด้วยกัน ต้องเริ่มจากคนภายในองค์กรก่อนจากนั้นจึงขยายไปสู่สังคมภายนอก และเหตุการณ์โรคระบาด COVID-19 ทำให้เราเห็นโมเดลความช่วยเหลือของสิงห์ที่น่าสนใจ เพราะครอบคลุมการช่วยเหลือไปยังทุก Stake Holder ตามแบบฉบับของสิงห์ที่ดูแลทุกคนเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน
นับจากมีข่าวคราวการแพร่ระบาด สิงห์เป็นองค์กรที่มีความตื่นตัวในการตั้งรับ ด้วยการออกมาตรการที่เข้มข้นมาอย่างต่อเนื่อง ดูแลพนักงานด้านความปลอดภัยในสุขภาพและสุขอนามัย รวมถึงผลักดันให้พนักงาน Work Fromhome เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพนักงานในบริษัทและพนักงานในโรงงาน
แต่ในเวลาเดียวกัน สิงห์ยังมีมาตรการดูแลเอเย่นต์ซัพพลายเออร์ และคู่ค้าที่เป็นร้านอาหาร ผับ บาร์ โดยขยายเครดิตเทอม และเพิ่มวงเงินในการสั่งสินค้า เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความคล่องตัวในการบริหารการเงินระหว่างที่ร้านไม่สามารถเปิดทำการได้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องไม่ปลดพนักงาน ถือเป็นมาตรการที่รับผิดชอบต่อสังคมที่มองไกลไปถึงปัญหาคนตกงาน ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปสู่สังคมและเศรษฐกิจ