“เราเป็นที่แรกที่รวบรวมไม่ว่าจะเป็นโปรดักต์ที่อำนวยความสะดวกในเรื่องของการจัดงานต่างๆ สถานที่จัดงาน ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะในโรงแรม แต่ยังมีสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสนามกีฬา หรือแม้กระทั่งวัดหรือพิพิธภัณฑ์ ซึ่งสามารถสร้างความโดดเด่นแตกต่าง ทำให้คนประทับใจในการเดินทางหรือจัดฟังก์ชั่นดินเนอร์ได้ ใน Thai MICE Connect เราพัฒนาไปถึงการมีชุมชนที่พร้อมให้บริการด้าน One Day Trip ด้วย”
หากมองถึงบทบาทของทีเส็บ ในการเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ในแง่ของการทำงาน คุณจิรุตถ์ มองว่า ทีเส็บ เป็นตัวกลางในการสะท้อนนโยบายของภาครัฐสู่เอกชน ในขณะเดียวกันก็สะท้อนความต้องการของเอกชนให้ภาครัฐทราบ เป็นตัวเชื่อมสำคัญระหว่างภาครัฐและเอกชน
“หากเราต้องการจะพัฒนาจังหวัดหนึ่งขึ้นมา ทางจังหวัดก็อาจจะมองว่าเขาอยากทำเรื่องไมซ์ เพราะทราบดีว่า ไมซ์เป็นกลไกที่จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศ ทำให้ขายของได้ หรือในส่วนของมหาวิทยาลัยก็ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องของการจัดอีเวนต์ ซึ่งเราก็มีการทำคอร์สอีเวนต์ร่วมกับทางมหาวิทยาลัย เพราะบางครั้งเรียนแค่ในมหาวิทยาลัยอาจจะไม่ได้เรียนรู้ประสบการณ์จริงมากนัก
เรามองเรื่องของการพัฒนาเป็น 3 ระดับ คือการพัฒนาเด็กที่อยู่ในมหาวิทยาลัย พัฒนาคนที่อยู่ในระดับบริหารจัดการ ด้วยการนำคอร์สจากต่างประเทศเข้ามาซัพพอร์ต เรียนจบได้ประกาศนียบัตรที่สามารถจัดงานนานาชาติในประเทศไทยได้ มีคอร์สอบรมสำหรับต่างจังหวัดซึ่งตอนนี้เราก็ดีใจว่ามีออร์แกไนเซอร์จากเชียงใหม่กลายเป็นออร์แกไนเซอร์ใหญ่ขึ้น สามารถที่จะจัดงานที่เชียงใหม่และข้ามมาจัดที่กรุงเทพฯ ได้ด้วย เราซัพพอร์ตทางด้านการศึกษา โดยทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพในการออกมาทำงานในอุตสาหกรรมนี้ในอนาคต”
อย่างไรก็ตาม คุณจิรุตถ์ เสริมว่า หลักการทำงานที่สำคัญของ ทีเส็บ ไม่ใช่การนำปลาไปมอบให้กับชุมชน แต่เป็นการสอนวิธีการตกปลาให้กับเขาเพื่อให้การพัฒนาชุมชนเป็นไปได้อย่างยั่งยืนตามหลักคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10
“เราทำงานโดยยึดตามทฤษฎีของในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ในเรื่องของการระเบิดจากข้างใน เปรียบเทียบแบบง่ายๆ ก็คือไปทำร้านให้เขาหรือหาภาคีที่เป็นภาครัฐด้วยกันมาช่วย เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันและยั่งยืน เพราะเมื่อชุมชนรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของพื้นที่แล้ว เขาก็จะระเบิดศักยภาพจากภายในของเขาออกมาและสามารถเดินหน้าต่อได้ด้วยตัวเอง สิ่งที่ชุมชนต้องการคือให้เรานำเทคโนโลยี ความเป็นมาตรฐาน องค์ความรู้ต่างๆ รวมถึงหาตลาดให้กับเขาเพื่อให้เขาไปต่อยอด ซึ่งทำให้เกิดโครงการไมซ์ซิตี้ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต นครราชสีมา และสงขลา เราทำงานด้วยหลักของการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา โดยใช้ Marketing + Development = การตลาดเพื่อการพัฒนา”
ที่ผ่านมา ทีเส็บ มีสินค้าและบริการครอบคลุมในเรื่องของไมซ์ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง COVID-19 เราได้มีการจัดทำโครงการ “ประชุมเมืองไทย ปลอดภัยกว่า” โดยจะมีการสนับสนุนงบประมาณการจัดงานแก่องค์กร บริษัท และผู้ประกอบการไมซ์ ที่มีแผนจะจัดประชุมสัมมนา อบรม การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล กิจกรรมเพื่อสังคม กิจกรรมพนักงานสัมพันธ์ หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่ใช้สถานที่ในประเทศ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากทั้งบริษัท องค์กร ผู้ประกอบการ หน่วยงานต่างๆ
ช่วง COVID-19 ส่งผลกระทบอย่างมากแบบที่เราไม่เคยจินตนาการมาก่อน เราเป็นประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ดังนั้นเราจึงได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก แต่ก็ยังถือว่าประเทศของเราจัดการได้ดี จนตอนนี้เราสามารถจัดอีเวนต์ได้บ้างแล้ว การใช้เทคโนโลยีในการจัดงานจะเป็น New Normal ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้เราได้ดี แต่หลักๆ คือเราต้องส่งเสริมเรื่องของการจัดงานในประเทศให้มากขึ้น โรงแรมที่ไม่มีคนพักก็สามารถใช้เป็นที่จัดการประชุมสัมมนาได้ ความท้าทายของเราคือ การที่เราต้องมองดูว่าเราจะช่วยผู้ประกอบการโรงแรมหรือสายการบินได้อย่างไรบ้าง สิ่งสำคัญคือ เราต้องมีสติ สามัคคี และจับมือกันฝ่าฟันไปให้ได้
แผนงานและเป้าหมายต่อไปของทีเส็บ คือการสนับสนุนให้เกิดการดึงงานและการประมูลสิทธิ์จากต่างประเทศ เนื่องจากงานประเภทนี้ต้องใช้เวลาเป็นปีๆ กว่าจะมาจัดงานจริง เรามีเวลาในการเตรียมพร้อมสำหรับงานที่จะเกิดขึ้น รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการจัดงานที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำๆ (Carry on) เมื่อเริ่มเปิดประเทศ เพราะไทยถือว่าได้เปรียบประเทศอื่นในเรื่องของการจัดการควบคุมโรคได้ดีจนต่างชาติเกิดความมั่นใจ
คุณจิรุตถ์ เสริมว่า แม้วันนี้ ทีเส็บ จะได้รับการโหวตให้เป็นองค์การมหาชนอันดับ 1 แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้ยังคงรักษามาตรฐานต่อไปก็คือการสื่อสารให้ชัดเจนกับคนในองค์กรว่าองค์กรกำลังเดินไปในทิศทางไหน
“การสื่อสารภายในองค์กรเป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้คนทำงานสามารถทำงานร่วมกันโดยมีเป้าหมายเดียวกัน การสื่อสารจะต้องชัดเจนจึงจะเดินหน้าไปได้เพราะเราเห็นเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งจะเป็นหลักที่ทำให้องค์กรเดินหน้าต่อไปได้ ด้วยความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจกัน สนุกกับงาน ซึ่งนี่ถือเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จขององค์กรที่เราจะสามารถดำเนินงานร่วมกับพันธมิตรภายนอกได้อย่างประสบความสำเร็จต่อเนื่อง และจะทำให้เรายังคงรักษาความเป็นที่หนึ่งเอาไว้ได้”