เคยสังเกตไหมว่าทำไมสตาร์ทอัพของไทย ถึงยังไม่สามารถแจ้งเกิดยูนิคอร์นในระดับที่เทียบเคียงกับเพื่อนบ้านของเราไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์หรืออินโดนีเซียเสียที
คำตอบของข้อสงสัยนี้มีหลายปัจจัยด้วยกันเพราะเป็นคำถามที่ใหญ่มาก
แต่ที่แน่ๆ หนึ่งในคำตอบนั้นมีเรื่องของการขาด Ecosystem หรือระบบนิเวศที่สนับสนุนต่อการพัฒนาต่อยอดสตาร์ทอัพให้แข่งขันได้ดีที่สุด
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้สตาร์ทอัพของไทยจำนวนไม่น้อย ต้องขวนขวายหาหนทางเพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจตามศักยภาพเท่าที่ตัวเองมี
กรณีศึกษาการขยายธุรกิจของ Class Café ซึ่งเป็นธุรกิจ Hospitality อย่างร้านกาแฟไปสู่ AI Vending Machine ที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีชั้นสูงนั้นจึงเป็นเรี่องที่น่าสนใจไม่น้อย
Class Café ก่อตั้งโดยมารุต ชุ่มขุนทด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท คลาสคอฟฟี่ จํากัด และเจ้าของร้านกาแฟ Class Café ผู้ที่เติบโตมาจากสายงานไอทีและโทรคมนาคม ที่เริ่มเบื่อปัญหาการเมืองในกรุงเทพฯ และมีความตั้งใจที่จะกลับไปสร้างธุรกิจของตัวเองที่บ้านเกิด คือจังหวัดนครราชสีมา ครั้งนั้นมารุตเลือกที่จะเปิดร้านกาแฟ แต่ใช้รากฐานของความเป็น Tech Company ที่ตนเองถนัดมาเป็น Backbone ในการรันธุรกิจแบบสตาร์ทอัพที่เรียกว่า Open Coffee Platform
มารุตใช้เวลาสะสมประสบการณ์ในธุรกิจ Hospitality อยู่หลายปีกว่าจนสามารถเรียกตัวเองได้ว่าเป็น FoodTech อย่างเต็มปาก
ในที่สุด Class Café ก็สามารถแจ้งเกิดธุรกิจร้านกาแฟในโคราชได้อย่างแข็งแรง และเริ่มมีการขยายสาขาออกไปยังพื้นที่ใกล้เคียง เรียกว่า Class Café ใช้การเดินธุรกิจแบบป่าล้อมเมือง คือ สร้างการเติบโตในพื้นที่ภูมิภาคที่การแข่งขันไม่รุนแรงเท่ากับส่วนกลาง และรอจนกระทั่งบริษัทมีความพร้อมจึงเริ่มบุกตลาดกทม.
แม้จะอยู่ในธุรกิจร้านกาแฟ แต่มารุตก็คิดแบบสตาร์ทอัพ เขารู้ว่าสเกลธุรกิจเป็นเรี่องสำคัญที่จะทำให้สตาร์ทอัพไปจนถึงฝั่งฝัน ดังนั้นเราจะเห็นว่าร้านของ Class Café จะมีขนาดใหญ่กว่าร้านทั่วไปแทบทั้งสิ้น คือมีพื้นที่เฉลี่ยประมาณ 700-2,000 ตารางเมตร เพื่อกันพื้นที่ในร้านให้เป็น Co-Working Space ซึ่งเป็นอีกหนึ่ง Ecosystem ที่เกื้อหนุนการเติบโตของสตาร์ทอัพที่เป็น FoodTech