การใช้ทาทา ยัง เป็นแม่เหล็กในการสื่อสารแบรนด์ซาร่าในครั้งนั้น ถือเป็นความพยายามในการผลักดันให้แบรนด์ซาร่า เป็นที่รู้จัก และเกิดการทดลองใช้ในกลุ่มผู้บริโภควงกว้างมากขึ้น เพราะในกลุ่มลูกค้าระดับบน ถือเป็นกลุ่มที่มีแบรนด์ลอยัลตี้กับสินค้าค่อนข้างสูงอยู่แล้ว การซื้อแต่ละครั้งจะมีการระบุแบรนด์ที่ชัดเจน ต่างจากระดับแมสทั่วๆ ไป ที่จะดูราคาเป็นหลัก ในครั้งนั้น จึงเป็นความพยายามในการขยายการรับรู้แบรนด์ไปยังวงกว้าง หลังจากที่ซารา สามารถรีจิสเตอร์ในเรื่องของคุณภาพยาผ่านทาง มาลิงครอทด์ เคมิคอล
“ทาทา ยัง” กับแบรนด์ซาร่า กลายเป็นจุดที่ลงตัว เพราะหลังจากนั้น แนวทางการสื่อสารแบรนด์ของซาร่า ก็มีการนำดาราดังเข้ามาเป็นพรีเซ็นเตอร์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นชมพู่ อารยา เอร์ฮาเก็ต หรือมาริโอ้ เมาเร่อ ซึ่งเข้ามาช่วยยกระดับภาพลักษณ์ และการจดจำแบรนด์ซาร่าได้เป็นอย่างดี
ขณะเดียวกัน การเลือกใช้ Identity ที่ลงตัวก็มีส่วนช่วยในการสร้างการจดจำแบรนด์ โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้ “สี” ที่มีความโดดเด่น และช่วยสร้าง Perception ถึงการเป็นแบรนด์ยาพาราเซตามอลได้เป็นอย่างดี โดยผู้บริโภครับรู้ว่าหากเป็น “สีเขียว” จะหมายถึง “ทิฟฟี่” ที่เป็นยาแก้หวัด แต่ถ้าซาร่า จะเป็นสีชมพู ซึ่งทั้ง 2 แบรนด์ ต่างก็เป็นยาของไทยนครพัฒนาทั้งคู่
หัวใจสำคัญอีกอย่างที่มีผลต่อความสำเร็จ น่าจะมาจากเรื่องของการกระจายสินค้าที่ไทยนครพัฒนาเองมีระบบจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่ง เข้าถึงร้านยาได้ทั่วประเทศ เมื่อรวมเข้ากับการทำเทรด โปรโมชั่น และการโฆษณาที่ดี ทำให้เป็นส่วนผสมที่ลงตัวที่เข้ามาช่วยสร้างความสำเร็จให้กับแบรนด์นี้
เป็นการผสมผสาน Push Pull Strategy ที่ลงตัวอย่างมาก
ไทยนครพัฒนา มีดีเอ็นเอ ในเรื่องของยาคุณภาพ ที่ถูกส่งผ่านมายังยาแบรนด์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ทิฟฟี่ แอนตาซิน หรือแม้แต่ซาร่า ที่คุณวินัย วีระภชงค์ ผู้ก่อตั้งบริษัทวางไว้ตั้งแต่การให้กำเนิดบริษัท น่าจะเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญ ที่ทำให้การสื่อสารถึงเรื่องคุณภาพของยาซาร่า กับผู้บริโภคผ่านแคมเปญดังกล่าวบรรลุวัตถุประสงค์ได้เร็วขึ้น และถือเป็น “ลูกฮุค” ครั้งใหญ่ ที่สร้างความฮือฮาให้กับตลาดยาแก้ปวดพาราเซตามอล ในช่วงนั้นได้ไม่น้อยทีเดียว
ที่สำคัญยังทำให้คนไทยหันมามองยาคุณภาพผ่านแบรนด์คุณภาพของไทยที่มีมาตรฐานไม่แพ้ยาของชาติยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย.....