อย่างกรณีของบริษัท เซ็นทรัล กาเมนท์ แฟคทอรี่ ในเครือเซ็นทรัล ก็เคยนำกางเกงชั้นในชายแบรนด์ “จ๊อก” (JOX) จากสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นแบรนด์ที่ 2 หรือ “เซกันแบรนด์” ของ จ๊อกกี้ ที่ เซ็นทรัล กาเมนท์ฯ รับสิทธิ์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยเข้าไปวางขายในไฮเปอร์มาร์เก็ต
เดิมที จ๊อกกี้ จะจับตลาดกางเกงชั้นในชายในระดับบนที่มีสัดส่วนประมาณ 25% ของตลาดชุดชั้นในชายที่เหลืออีก 75% จะเป็นชุดชั้นในชายในระดับล่าง ซึ่งเป็นตลาดที่มีวอลุ่มค่อนข้างใหญ่ และมีช่องทางขายหลักๆ ผ่านทางไฮเปอร์มาร์เก็ต
การส่งเซกันแบรนด์ของตัวเองเข้ามาทำตลาดในครั้งนั้นจึงเป็นการเปิดโอกาสในการเข้าไปสู่ตลาดที่มีฐานที่ใหญ่กว่าโดยมีไฮเปอร์มาร์เก็ตเป็นตัวเชื่อมต่อ โดยในครั้งนั้น ไม่มีรายงานถึงการทำตลาดของจ๊อกว่าประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน รวมถึงมีการต่อเนื่องการทำตลาดอย่างไรบ้าง
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าจ๊อก ก็มีอีกแบรนด์ที่ทำตลาดในรูปแบบใกล้เคียงกัน โดยยักษ์ใหญ่อย่างไอซีซี เป็นอีกรายที่ประสบความสำเร็จจากการนำ “เซกันแบรนด์” ชุดชั้นในคือ “ป๊อปไลน์” ซึ่งเป็น “เซกันแบรนด์” ของวาโก้ ที่ถูกเข็นออกมาเพื่อวางขายในช่องทางไฮเปอร์มาร์เก็ตโดยเฉพาะ หลังจากที่วาโก้ ติดเรื่องแบรนด์อิมเมจ จึงไม่สามารถที่จะเข้าไปทำตลาดในไฮเปอร์มาร์เก็ตได้
ขณะที่ตัวไฮเปอร์มาร์เก็ตเอง ก็มีการหันมาเทน้ำหนักที่การนำเสนอสินค้าที่เป็นแฟชั่นมากกว่าในสเต็ปแรกที่เข้ามาเปิดในเมืองไทย อย่างกรณีของโลตัส มีการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับแฟชั่นเพื่อโปรโมทสินค้าแฟชั่นของตัวเองออกมาอย่างต่อเนื่อง
เซกันแบรนด์ จึงเป็นอีก 1 ปรากฏการณ์ทางการตลาดที่เคยเกิดขึ้น ซึ่งเป็นความพยายามในการขยายโอกาสในการขายเข้าไปยังลูกค้ากลุ่มแมสที่มีฐานตลาดค่อนข้างกว้างโดยที่แบรนด์หลักของตัวเองไม่สามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มนั้นได้ เนื่องจากติดในเรื่องของภาพลักษณ์ของแบรนด์ เซกันแบรนด์จึงเป็นทางออกที่ดีในช่วงเวลานั้น ก่อนที่กลยุทธ์นี้จะเริ่มจางหายไปในช่วงเมื่อไม่กี่ปีมานี้ที่พฤติกรรมของลูกค้าเริ่มมีการเทรดอัพ หรือยกระดับการซื้อที่หันมามองหาการตอบโจทย์ในเรื่องของ “เทสต์&สไตล์” ของพวกเขามากขึ้นตามรายได้ และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนั่นเอง.....