ทุกวันนี้เพจ Torpenguin – ผู้ชายขายบริการ มีพนักงานประจำทั้งสิ้น 6 คน คอยทำหน้าที่ผลิตคอนเทนต์ป้อนให้กับเพจ รวมถึงรับผิดชอบจัดงานสัมมนาที่มีความถี่เพิ่มมากขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
“ถามว่าบริหารตัวเองอย่างไร เอาจริงๆ ปี 2 ปีที่ผ่านมางานเพจหรือว่างานช่วยเหลือคนน่าจะเป็นซัก 60-70% ของชีวิตแล้ว มันกลายเป็นเป้าหมายใหญ่ในชีวิตของเรา ผมแค่รู้สึกว่าเราทำธุรกิจถ้าเรารวยเราก็รวยคนเดียว และผมก็ไม่อยากเป็นร้านอาหารที่รวยขนาดนั้น พอวันนึงเราเจอว่าเราช่วยคนอื่นได้เราก็เลยอยากไปทางนั้น ที่ผ่านมาผมใช้เงินทุนส่วนตัวการทำงานไม่ได้เกี่ยงข้องกับทางร้านอาหาร แยกกันเด็ดขาด ผมเคยไม่เอาโปรโมชั่นร้านมาลงที่เพจไม่เช่นนั้นคนจะเข้าใจผิด จะมีก็แค่เอาเคสการตลาดของทางร้านมาแชร์ประสบการณ์
ตอนนี้เราเริ่มเห็น Business Model ที่สามารถทำรายได้จากตรงนี้ ตอนนี้เพจของเราก็เริ่มมีโฆษณาเข้ามา เริ่มมีกำไรบ้างแล้ว และเรากำลังพัฒนาแพลตฟอร์มที่ช่วยผู้ประกอบการร้านอาหารโดยที่เราก็มีรายได้ด้วย ผมกำลังทำ E-Learning Platform เกี่ยวกับธุรกิจร้านอาหาร ที่คนทำร้านอาหารสามารถเข้ามาหาความรู้ทางช่องทางออนไลน์ได้ในราคาที่ถูกมากๆ เราคาดหวังว่าเดือนหนึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่เกิน 500 บาท คุณจะเรียนรู้การนับสต๊อก การจัดการบัญชี การทำตลาดออนไลน์ เฉพาะธุรกิจร้านอาหารเลย นี่คือโมเดลที่เราวางไว้แล้วเรากำลังพัฒนาอยู่ อีกโครงการที่เรากำลังพัฒนาอยู่ คือเรากำลังรวบรวมซัพพลายเออร์ทั้งประเทศไทยมาอยู่ในแพลตฟอร์มของเรา เหมือนเป็นสมุดหน้าเหลืองสำหรับร้านอาหาร คนจะเปิดร้านอาหาร ไม่รู้ว่าจะใช้บริษัทออกแบบที่ไหน บริษัทก่อสร้างที่ไหน ซัพพลายเออร์ที่ไหน ซื้อจานชามที่ไหน คุณเข้ามาดูที่เราได้เลย โดยเราจะได้รายได้จากสปอนเซอร์”
เมื่อถูกถามถึงเป้าหมายในระยะยาว คุณธนพงศ์ กล่าววว่า บริษัทวางเป้าหมายจะเป็น Media Food Business ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีงานอีเวนท์ทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ที่เกี่ยวกับร้านอาหารทั้งหมด
“เราอยากมีงานแฟร์ของเราเอง เราเคยทดลองจัดงานเล็กๆ มาแล้ว ผลตอบรับถือว่าดีมาก เพราะอย่างที่บอกว่าพอ Community แข็งแรง เราสามารถทำอะไรต่อยอดไปได้มาก เราจะเป็นลมใต้ปีกให้ร้านอาหาร SME เราวางแผนไปไกลขนาดที่ว่าเราจะทำโรงเรียนสอนการเป็นผู้จัดการร้านอาหาร เพราะปัญหาของร้านอาหาร คือการไม่มีผู้จัดการร้านที่ดี เราอยากจะเป็นสถาบันผู้ประกอบการร้านอาหารแห่งประเทศไทยนี่คือความฝันของเราในอีก 5 ปี
วันหนึ่งเราจะกลายเป็นซัพพลายเออร์ แต่เป็นซัพที่เอาเทคโนโลยีมาช่วยร้านอาหาร เราจะมีสินค้าของตัวเอง พูดง่ายๆ ก็คือ เราจะเปลี่ยนตัวเองจาก B2C เป็น B2B โดยเน้นพวกอุปกรณ์บางอย่างที่หาซื้อยากๆ อะไรที่พาร์ทเนอร์เราทำดีอยู่แล้ว เช่น ระบบ POS คอนเซ็ปต์บริษัทที่เราตั้งขึ้นมาก็คือ เพนกวิน เอ็กซ์ คือเราจะไปร่วมมือกับทุกคนให้ธุรกิจทวีคูณขึ้น แข็งแรงขึ้น โดยที่เราจะไม่ทำธุรกิจแข่งกัน เป้าหมายของเราคือต้องการลดตัวเลขการเจ๊งของร้านอาหาร เราไม่สามารถการันตีได้ว่าร้านที่มาเรียนกับเราจะสำเร็จ เพราะการทำธุรกิจมันมีหลายปัจจัย แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็หวังว่าตัวเลขมันน่าจะลดลง ถ้าทำได้ตรงนี้ก็ถือว่าแฮปปี้แล้ว”
ถ้าดูจากสถิติตัวเลขของผู้ประกอบการร้านอาหารที่เข้ามาเป็นเครื่อข่ายและทำงานด้วยกันแบบใกล้ชิด จะพบว่าในช่วงที่ผ่านมาจากตัวเลขของผู้ประกอบการกว่า 200 ธุรกิจ มีร้านที่ไปไม่ถึงฝั่งฝันประมาณ 7-8 ร้านเท่านั้นซึ่งถือว่าน้อยมาก และเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจเล็กๆ ของคุณธนพงศ์
“ที่ผ่านมาเราเข้าไปปลดล็อกเรื่องวิธีคิดวิธีการจัดการมากที่สุด อย่างน้องคนนึงเปิดร้านอยู่ที่เชียงใหม่ ขายได้เดือนละล้านกว่าบาท แต่ว่ากำไรเขาไปหายจากการที่เขาไม่จัดการสต๊อกให้ดี ทำให้เขาต้องเอาตัวเองไปดูแลร้านในครัวตลอดเวลา เราก็สอนว่าจริงๆ สามารถวางระบบร้านทำให้มีเวลาไปจัดการอย่างอื่นได้มากขึ้น เขาก็ค่อยๆ เอาระบบเข้ามาจัดการ ก็มีกำไรมากขึ้น เขาเอาเวลาไปเรียนรู้เรื่องการตลาดออนไลน์ เราก็เอาคนไปสอนเรื่องการตลาดออนไลน์มากขึ้น”
จากประสบการณ์ในการเข้าไปให้ความรู้ คุณธนพงศ์อธิบายว่าปัญหาของผู้ประกอบการร้านอาหารในกรุงเทพฯกับต่างจังหวัดนั้นมีบางอย่างที่แตกต่างกัน คือ เจ้าของร้านในต่างจังหวัดส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่อง Mindset เจ้าของยังทำธุรกิจแบบเดิมๆ แต่ข้อดีของร้านอาหารในต่างจังหวัดคือ Fixed Cost ต่ำเลยยังไปได้อยู่
ส่วนปัญหาของผู้ประกอบการกรุงเทพฯ คือเจ้าของกิจการมีความคิดอะไรใหม่ๆ เพียงแต่ Fixed Cost สูงทำให้การแข่งขันยากกว่าต่างจังหวัด
ช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ ทีมงานอดสงสัยไม่ได้ว่า การออกมาทำเพจให้ความรู้แบบนี้ เคยเจอข้อความที่บั่นทอนจิตใจบ้างหรือไม่ และบริหารจิตใจให้ผ่านมาได้อย่างไร
“มีตั้งแต่วันแรกๆ เลย ตั้งแต่แบบว่าแบรนด์ใหญ่ๆ เขายังไม่มาสอนกันเลย แบรนด์คุณเล็กแค่นี้ถือดียังไงมาสอนคน หรือบางคนก็บอกว่าสุดท้ายคุณอยากเป็นโค้ชออนไลน์ใช่ไหม? ธุรกิจขายไม่ดีแล้วเลยจะออกมาทำอะไรแบบนี้ใช่ไหม? บางคนก็จะบอกว่าไปทำร้านตัวเองให้ดีก่อนแล้วค่อยมาสอนคนอื่น คือโดนหมดเลย ถามว่ากระทบจิตใจไหมก็กระทบพอสมควร แต่สุดท้ายเราก็มานั่งคิดว่าถ้าดูคอมเม้นต์ในเชิงบวกมันอาจจะมี 99% แล้วทำไมเราต้องมาแคร์คอมเม้นต์ในเชิงลบนิดเดียว ในเมื่อคนที่ได้ประโยชน์ยังมีอีกเยอะมาก
มีครั้งนึงที่ทำให้เรายังยึดมั่นและทำต่อเนี่ย เมื่อตอนที่ผมเริ่มทำเพจใหม่ๆ เราไปบรรยายงานในงานของภาครัฐที่รวมตัวผู้ประกอบการที่กำลังมีปัญหาทางธุรกิจ เราบอกไปว่าจริงๆ Penguin Eat Shabu ก็เจ๊งไปเป็น10 ล้านแต่เราสู้ต่อ และอยากช่วยทุกคนให้สู้ต่อได้ หลังจากนั้นประมาณหนึ่งอาทิตย์มีคนฟัง Inbox มาบอกว่าเขาคือคนที่เข้าไปฟังในวันนั้น และขอบคุณที่เราไปแชร์ความรู้ เพราะว่าจริงๆ เขาตัดสินใจอยากจะฆ่าตัวตายแล้ว เพราะล้มหมดทุกอย่าง แต่พอเขาฟังแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่เขาคนเดียวที่เจอ แล้วเรายังผ่านมาได้เลย เขาตัดสินใจว่าจะสู้ต่อ และขอให้เราอย่าหยุดทำสิ่งนี้ เพราะว่าเราเสียเวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่มันอาจจะเปลี่ยนชีวิตหรือครอบครัวใครบางคนได้ มันทำให้เรารู้สึกว่าเรามีความหมายต่อคนอื่น เป็นความรู้สึกที่ว่าเงินซื้อไม่ได้จริงๆ มันทำให้เรายังยึดมั่นและทำมันมาเรื่อยๆ”