Campfire เป็นตัวสร้าง Asset ต่างๆ ที่มีอยู่ในเกม โดยทั่วไปอาจต้องจ้างคนทำขึ้นมา ทำให้มีต้นทุนค่าจ้างที่ค่อนข้างแพง แต่ Campfire สามารถสร้าง Ingredient ต่างๆ ขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับสร้างเกมอีกที ซึ่งตัว Ingredient หมายถึง Code หรือไฟล์ 3D ที่ใช้สำหรับการสร้างองค์ประกอบต่างๆ เช่น ตัวละคร ต้นไม้ แม่น้ำ เป็นต้น
นอกจากเรื่องของทักษะในเชิงเทคนิค สิ่งที่ยังเป็นอุปสรรคของนักพัฒนาเกมคนไทยส่วนใหญ่ก็คือเรื่องของภาษาเพราะเป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้นเวลาที่เข้าไปดู Pictorial ตามช่องยูทูบต่างๆ ที่มีการสอนทำจึงไม่สามารถทำความเข้าใจได้ กลุ่มนักพัฒนาเกมคนไทยจึงต้องการเอนจิ้นที่เป็นภาษาไทย
Campfire Engine จึงตอบโจทย์ได้ดีในเรื่องของการออกแบบเกม เพราะมีขั้นตอนการใช้งานที่ง่าย คนที่ไม่มีทักษะเรื่องการเขียนโค้ดก็สามารถใช้งานได้ไม่จำเป็นต้องทำภาพ 3D เอง แต่ใช้ Campfire Engine จะเข้ามาจัดการเรื่องต่างๆ ทั้งหมด ซึ่งเหมือนการต่อเลโก้ โดยหยิบมาวางทีละชิ้นต่อกันไปเรื่อยๆ จนออกมาเป็นเกม
“ปัจจุบัน Template Game มีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เราเป็นคนแรกที่ทำเอนจิ้นเกมเป็นภาษาไทย รวมถึงของ ที่อยู่ใน Library ซึ่งเป็น Asset หนึ่งในเกมก็ถูกออกแบบมาสำหรับคนไทยโดยเฉพาะ”
เพราะเกมคือชีวิต
คุณพลวัต กล่าวเสริมว่า ตนเองนั้นเล่นเกมมาตั้งแต่เด็กๆ เท่าที่จำความได้ก็เล่นมาตั้งแต่เริ่มเขียนชื่อตัวเองได้ แต่ตอนนั้นยังไม่มีคอมยังไม่มีมือถือก็ใช้วิธีวาดลงไปในกระดาษ บางทีก็ทำเล่นเอง บางทีก็ทำให้เพื่อนเล่น และยังมองว่าชีวิตตนเองนั้นเปรียบเสมือนเกม เพราะพลอตเรื่องของช่วงชีวิตที่ผ่านมามีโครงสร้างคล้ายเกม ซึ่งตัวละครในเกม RPG ส่วนใหญ่มักเป็นแค่คนธรรมดาที่ไม่ได้มีพลังพิเศษ หรือมีความยิ่งใหญ่มาก่อน แต่พอเล่นไปสักพักจะมี Character Development ที่เกิดความก้าวหน้าในด้านต่างๆ จนทำให้ตัวละครในเกมนั้นๆ กลายเป็นฮีโร่ในที่สุด
“สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกว่า มันเหมือนกันคือช่วงของ Progression ระหว่างที่เป็น No One จนมาเป็น Some One เขาได้เรียนรู้ประสบการณ์ เขาได้จับอาวุธใหม่ๆ ได้สกิลใหม่ๆ ไปสู้กับศัตรู หรือถ้าตายก็กลับมาเริ่มใหม่ก็ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ซึ่งปรัชญาของเกมเหล่านี้ก็เหมือนกัน คือถ้าไม่ยอมแพ้เสียก่อน สักวันหนึ่งก็ต้องชนะ และชีวิตคนเราก็ไม่ได้ต่างกันมาก เราเป็นเหมือนตัวละครเด็กโง่ๆ คนหนึ่งที่เกิดมาในที่ที่เราต้องเสียใจแล้วถูกโลกบังคับให้ชนกับสิ่งต่างๆ ต้องทน ต้องปรับสกิลไปเรื่อยๆ ต้องฆ่าบอสตัวใหญ่ๆ ไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งเราก็เริ่มเรียนรู้ว่าเราเกิดมาทำไม”
เปรียบเหมือนกับตัวเองจากที่เมื่อก่อนถูกมองว่าเป็นเด็กติดเกม แต่วันนี้สามารถสร้างรายได้จากการเป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวกับเกม โดยในปีที่ผ่านมา สามารถสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้ถึง 1,349% และมีคิวงาน ยาวไป 3 ปี จนต้องต้องเร่งขยายทีมงานและกลุ่ม Strategic Partner
สิ่งสำคัญ คือการมองเห็นโอกาสในเรื่องของการสร้างรายได้จากกลุ่มนักสร้างเกม เนื่องจากธุรกิจเกมเป็นตลาด ที่มีขนาดใหญ่มาก และมีคนจำนวนมากถึง 1 ใน 3 ของคนทั้งโลกเข้ามามีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องอยู่ในเกม และเกมเป็น เอนเตอร์เทนเม้นต์ในรูปแบบหนึ่งที่ผู้คนจำนวนมากยอมจ่ายเงินกับการเล่นเกม
“จะดีแค่ไหนที่เราสามารถแทรกเข้าไปอยู่ในกลุ่มคนพัฒนาเกมที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก และสามารถสร้างรายได้จากตรงนั้นได้ ผมจึงสร้างธุรกิจนี้ขึ้นมาด้วยการพัฒนา Asset เกี่ยวกับเกม คือ Campfire Engine ซึ่งปัจจุบัน Campfire นอกจากจะเป็น Core Business ที่ใช้ในการรันเอนจินของบริษัท Campfire ยังถูกนำไปใช้ในการสร้างงานหลายๆ อย่าง เช่น การพัฒนาเว็บไซต์ การทำโปรแกรมจัดฟันในชื่อ Tomorrow Smile และอยู่ในอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกมากมาย”
สำหรับแนวทางการทำตลาดในปัจจุบัน จะเป็นการขายอยู่บน Transition Platform ลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และประเทศจีน โดยมีจุดขายในเรื่องของราคาถูกที่สุด และต้องเร็วที่สุดอยู่เสมอ
“ผมลงไปในตลาดที่มีปลาใหญ่เยอะๆ และผมก็ทุบเขาด้วยราคา คือเขาขาย 100 เหรียญ ผมขาย 15 เหรียญ ผมลงของไปเยอะพอคนเริ่มใช้ เริ่มมีรีวิวมากขึ้น ผมก็ค่อยๆ อัพราคาขึ้นมา พอถึงจุดๆ หนึ่ง เราก็เทียบมาตรฐานกับเขาและเราก็เริ่มฆ่าเขาไปทีละคน ซึ่งตลาด Transition Platform ที่เป็น Red Ocean การปล่อยของด้วยราคาหรือสามารถทำได้เร็วกว่า มีการอัพเดทเวอร์ชั่นใหม่กว่า นี่คือข้อได้เปรียบ เพราะคนตัวใหญ่เป็นองค์กรใหญ่จะขยับตัวได้ช้ากว่า เราจึงสามารถแข่งขันได้เพราะมีต้นทุนที่ถูกกว่าจากการนำอินโนเวชั่นเข้ามาช่วยทำให้มีต้นทุนที่ถูกกว่าการใช้คนออกแบบ”
นอกจากนี้ ยังมีรายได้ส่วนหนึ่งมาจากธุรกิจ B2B โดยขาย Asset เป็นแพ็กใหญ่ให้กับบางบริษัท ในอนาคตยังมีแผนจะแทรกเข้าไปในตลาด 3D Animation และกลุ่มภาพยนตร์ชึ่งยังมีช่องทางไปได้ไกลมากไม่ได้อยู่เพียงแค่เรื่องเกม