“การเรียนในหลักสูตร Sustainable Business ทำให้ผมได้มุมมองใหม่ว่า เราสามารถทำธุรกิจยั่งยืนช่วยเหลือชุมชนและมีกำไรเลี้ยงบริษัทได้ด้วย แต่เมื่อ 10 กว่าปีก่อนคนไทยไม่เข้าใจ ถือเป็นความล้มเหลวอีกครั้งหนึ่ง เพราะในช่วงแรกของการก่อตั้งเราถูกตั้งคำถามจากนักลงทุนบ่อยมากว่าจะทำได้จริงหรือเปล่า ขายได้จริงไหม นักลงทุนเองก็ไม่ค่อยสนใจเพราะเขาก็อยากลงทุนในสตาร์ทอัพที่มันโตเร็วมากกว่าของเราที่มันค่อยๆ โต เพราะต้องดูกำลังและความสามารถของชุมชนควบคู่ไปด้วย Local Alike จึงเป็นสตาร์ทอัพที่ไม่เซ็กซี่ในสายตาเขา”
แต่แววตาจากคนในองค์กร รวมถึงคนในชุมชนที่เปี่ยมไปด้วยความหวังทำให้คุณไผฮึดสู้อีกครั้ง ล้มเลิกแผนการขยายธุรกิจจากนักลงทุนเปลี่ยนไปเดินสายประกวดแผนธุรกิจทุกเวทีทั้งไทยและต่างประเทศเพื่อนำเงินรางวัลมาดำเนินธุรกิจแทน
สร้างโมเดลการท่องเที่ยวยั่งยืน
ปัจจัยที่ทำให้ Local Alike ประสบความสำเร็จจากเวทีประกวด เพราะมีโมเดลธุรกิจสร้างรายได้ที่ไม่เอากำไรสูงสุดเป็นตัวตั้ง แต่ตั้งใจพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชนผ่านการท่องเที่ยวยั่งยืน
“ที่ผมเลือกทำด้านการท่องเที่ยว เพราะคิดว่ามีโอกาสสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนได้ ก่อนหน้านี้ผมเห็นชาวบ้านโดนเอาเปรียบจากบริษัททัวร์ให้คนในชุมชนมานั่งให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูป ทั้งๆ ที่ชาวบ้านในฐานะเจ้าของทรัพยากร ควรตัดสินใจและออกแบบการท่องเที่ยวด้วยตัวเองมากกว่า”
Local Alike จึงไม่ได้วางตำแหน่งเป็นแค่แพลตฟอร์มท่องเที่ยว แต่ทำหน้าที่เป็นพาร์ทเนอร์กับชุมชนแบบระยะยาว โดยจะทำงานร่วมกันทั้งในเรื่องการพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยว แนวทางการนำเสนอจุดเด่นของชุมชน โดยให้เครื่องมือจากการท่องเที่ยวมาช่วยในการพัฒนาชุมชนต่อ