“เราอยากให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่านี้อีก เราคิดว่าถ้าเราเอาความถนัดด้านออกแบบของเรากับความถนัดด้านหัตถศิลป์ของเขามาผสมผสานกัน มันจะช่วยยกระดับให้กับภูมิปัญญาพื้นถิ่น แล้วถ้ายิ่งบวกนวัตกรรมที่มันเป็นสิ่งใหม่เข้าไปด้วย มันก็จะยิ่งให้เราสามารถสร้างอะไรที่ไปได้ไกลกว่าเดิม เราจึงมีความตั้งใจอยากนำความรู้ด้านการออกแบบมาพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมของชุมชนให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่มากขึ้น หรือเรียกว่าเป็นการนำเอาศิลปะไทยมานำเสนอในมุมมองใหม่ที่เชื่อมระหว่างความดั้งเดิมกับความร่วมสมัย”
เน้นพัฒนาสินค้าชุมชน และช่วยโลกไปพร้อม ๆ กัน
ที่มาและความตั้งใจของ KH EDITIONS ไม่ได้มีเพียงเท่านั้น นภัต ยังบอกกับเราอีกว่า อีกปัญหาใหญ่ที่เขามองเห็นคือเรื่องของขยะจำนวนมหาศาลที่อุตสาหกรรมกลุ่ม Fast Fashion ทิ้งร่องรอยเอาไว้ในแต่ละปี ซึ่งสร้างผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อมอยู่ไม่น้อย โดยมีข้อมูลชุดหนึ่งระบุว่า อุตสาหกรรมในกลุ่ม Fast Fashion สร้างขยะทิ้งไว้ให้โลกกว่า 92 ล้านตันต่อปี และหากยังนิ่งเฉยปล่อยผ่านเลยไปในที่สุดขยะเสื้อผ้าก็จะล้นโลก
“ส่วนหนึ่งเราก็อยากจะพัฒนาหัตถศิลป์ไทยให้ไปได้ไกลมากขึ้น เราอยากทำ เราทำได้ แต่เราก็จต้องไม่ลืมนึกถึงสังคมส่วนรวมด้วย ถ้าเอาแต่ทำเพิ่มแต่ไม่จัดการแก้ไข หรือทำอะไรให้ดีขึ้น สุดท้ายงานของเราก็อาจจะกลายเป็นขยะที่เพิ่มขึ้นมาอีกชิ้นหนึ่ง”
เพราะทราบดีว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นสร้างขยะจำนวนมหาศาล KH EDITIONS จึงเกิดไอเดียที่จะนำของเสียจากกระบวนการอุตสาหกรรมหรือสิ่งของเหลือใช้มาเข้าสู่กระบวนการแปรรูปให้เป็นเส้นใยใหม่อีกครั้ง
“เราต้องการเปลี่ยนภาพของอนาคตในการเปลี่ยนผ่านรูปแบบการผลิตและบริโภค จากแบบเส้นตรงที่ผลิต-ใช้-ทิ้ง ที่เน้นปริมาณและความรวดเร็วมาสู่รูปแบบการผลิตแบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน ซึ่งจะทำให้ชุมชนระดับท้องถิ่นขนาดเล็กสามารถพึ่งพาตัวเองและธรรมชาติได้ ด้วยแนวคิด Farm to Closet ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบที่การสวมใส่เสื้อผ้าที่มีต่อโลกได้”