ในที่สุด ก็มีการตอบรับอย่างเป็นทางการ จากบริษัทเจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยี โดย Apple หนึ่งในผู้นำตลาดสมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์ของโลก ได้ประกาศเปิดตัวการซ่อมแบบบริการตัวเอง ซึ่งทำให้ลูกค้าที่สะดวกซ่อมเครื่องด้วยตัวเองสามารถใช้งานชิ้นส่วนและเครื่องมือแท้ของ Apple ได้
การซ่อมแบบบริการตัวเองดังกล่าว จะเปิดให้บริการต้นปีหน้าในสหรัฐ และขยายบริการดังกล่าวไปในประเทศอื่น ๆ ตลอดปี 2022 โดยจะเริ่มให้บริการกับผลิตภัณฑ์ iPhone 12 และ iPhone 13 ก่อน จากนั้นจึงเปิดให้บริการสำหรับคอมพิวเตอร์ Mac ที่มีชิป M1
ลูกค้าที่ต้องการซ่อมเองจะสามารถเข้าถึงชิ้นส่วน เครื่องมือ และคู่มือได้เหมือนกับผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตจาก Apple (AASP) อีก 5,000 ราย และผู้ให้บริการซ่อมอิสระอีก 2,800 ราย
โปรแกรมในระยะแรกจะเน้นโมดูลที่ให้บริการซ่อมมากที่สุดอย่างจอภาพ แบตเตอรี่ และกล้อง ส่วนการซ่อมอื่นๆ จะมีให้บริการภายหลังในปีหน้า
Jeff Williams หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของ Apple กล่าวว่า "การสร้างช่องทางการเข้าถึงชิ้นส่วนแท้ของ Apple จะช่วยเพิ่มตัวเลือกให้ลูกค้าหากจำเป็นต้องซ่อมอุปกรณ์"
"ใน 3 ปีที่ผ่านมานี้ Apple ได้เพิ่มสถานที่ให้บริการซ่อมเกือบ 2 เท่า โดยสามารถเข้าถึงชิ้นส่วน เครื่องมือ และการฝึก อบรมของจริงได้ และตอนนี้เราก็มีตัวเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการลงมือซ่อมเอง"
Apple ยังระบุว่า เพื่อให้แน่ใจว่าลูกค้าสามารถซ่อมเครื่องด้วยตัวเองได้อย่างปลอดภัย การอ่านคู่มือการซ่อมก่อนจึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ จากนั้นให้ลูกค้าสั่งซื้อชิ้นส่วนและเครื่องมือแท้จาก Apple ผ่านทาง Apple Self Service Repair Online Store หลังจากซ่อมแล้ว ลูกค้าที่ส่งชิ้นส่วนที่ใช้แล้วกลับมาเพื่อรีไซเคิลจะได้รับเครดิตในการซื้อด้วย
ในช่วงแรกๆ ร้านแห่งใหม่จะมีชิ้นส่วนและเครื่องมือกว่า 200 ชิ้น ที่ทำให้ลูกค้าสามารถทำการซ่อมทั่วๆ ไปกับ iPhone 12 และ iPhone 13 ได้
และ Apple ยังแนะนำว่า การซ่อมแบบบริการตัวเองมีไว้สำหรับช่างเทคนิคที่มีความรู้และประสบการณ์ในการซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สำหรับลูกค้าส่วนใหญ่แล้ว การไปพบผู้ให้บริการซ่อมมืออาชีพพร้อมช่างเทคนิคที่ได้รับการรับรองและใช้ชิ้นส่วนแท้ของ Apple เป็นวิธีที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้มากที่สุดในการซ่อม ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา Apple ได้ดำเนินการเพื่อให้ผู้ให้บริการซ่อมอิสระกว่า 2,800 ราย เข้าถึงชิ้นส่วน เครื่องมือ และการฝึกอบรมของจริง
สำหรับโปรแกรมผู้ให้บริการอิสระที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วนี้ ได้เปิดตัวในสหรัฐเมื่อปี 2019 และได้มีการเติบโตจนสามารถขยายบริการไปได้กว่า 200 ประเทศ ทำให้ร้านของผู้ให้บริการซ่อมอิสระสามารถเข้าฝึกอบรม ใช้ชิ้นส่วน และเครื่องมือเดียวกับที่ผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตจาก Apple
นอกจากนี้ Apple ยังมอบตัวเลือกในการซ่อมที่สะดวกสำหรับลูกค้าผ่านเครือข่าย AASP ทั่วโลกกว่า 5,000 แห่ง ซึ่งช่วยผู้คนหลายล้านในการซ่อมผลิตภัณฑ์ทุกชนิดของ Apple ทั้งที่อยู่และไม่อยู่ภายใต้การรับประกัน
การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความคงทน ใช้งานได้ยาวนาน และมีตัวเลือกในการซ่อมที่มากขึ้นทำให้ลูกค้าสามารถใช้งานผลิตภัณฑ์ไปได้นานอีกหลายปี นอกจากนี้ Apple ยังมีการอัพเดทซอฟต์แวร์ต่อเนื่องหลายปีที่มาพร้อมคุณสมบัติและการใช้งานใหม่ๆ อีกด้วย
การประกาศเปิดตัวการซ่อมแบบบริการตัวเอง น่าจะส่งผลให้แบรนด์ผลิตภัณฑ์ของ Apple ได้ใจผู้บริโภค รวมถึงนักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และอาจจะส่งผลต่อผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีแบรนด์อื่นที่เป็นคู่แข่งของแบรนด์ของ Apple ที่ควรจะมีความเคลื่อนไหวเป็นทางการในเรื่องเกี่ยวกับ Right to Repair เพื่อความชัดเจนในการรับรู้ของผู้บริโภคของตนและเพื่อรักษาผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าไว้ให้คงอยู่กับแบรนด์ของตนในระยะยาว
Cr : Apple Newsroom / CNN BUSINESS / WIRED
Source
Source
Source