สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การขยายสาขาในฟอร์แมตใหม่ๆ นี้ เรื่องของดีไซน์จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น อย่างกรณีของโลตัส โก เฟรช สาขานครพนมที่เปิดนี้ จะเป็นสาขาแฟลกชิพที่มีสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยที่โดดเด่น ได้รับแรงบันดาลใจจากบ้านพื้นถิ่นลุ่มน้ำโขง หลังคาทรงจั่วบังแดดและฝนบริเวณชายคา ผนังก่ออิฐ ช่องแสง และผนังฝาปะกน ผสมผสานอย่างลงตัว ซึ่งน่าจะเป็นต้นแบบของการดีไซน์สาขาในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ด้วย โดยสาขานี้ มี 2 ชั้น มีพื้นที่จับจ่ายใช้สอยหลักอยู่บนชั้น 1 ส่วนชั้น 2 มีพื้นที่สำหรับนั่งพักผ่อน จิบกาแฟ และชมวิว
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีพื้นที่ที่เป็นลานด้านหน้าสาขาเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ สำหรับจัดตลาดนัดสัญจร ให้ผู้ประกอบ การ SME เกษตรกร และร้านค้าในชุมชนหมุนเวียนมาจำหน่ายสินค้า รวมถึงมีเครื่อง “ข.ขวด แลก ข.ไข่” รับขวดพลาสติกเพื่อนำไปรีไซเคิล โดยลูกค้าสามารถแลกไข่ไก่ 1 ฟองเมื่อนำขวดพลาสติก 10 ขวดมารีไซเคิล ช่วยสร้างพฤติกรรมในการแยกขยะและรักษาสิ่งแวดล้อมให้ชุมชนใกล้เคียงทั้งหมดจะเป็นตัวช่วยผลักดันให้โลตัส โก เฟรช สาขานี้ ก้าวขึ้นมาเป็น Community Hub ของชุมชนดังกล่าวอย่างสมบูรณ์แบบ
ความน่าสนใจอีกอย่างก็คือการใช้สาขาในแหล่งท่องเที่ยว เข้ามาเป็นจุดเช็กอิน เพื่อถ่ายภาพ รวมถึงการแฮงก์ เอาท์ ที่สามารถนั่งจิบกาแฟชิลๆ ได้นั้น ถือเป็นอีกรูปแบบที่ฉีกแนวทางไปจากการทำตลาดเดิมๆ เนื่องจาก ร้านค้าปลีกไซส์เล็กที่ขายความสะดวกนั้น ส่วนใหญ่ลูกค้าจะใช้เวลาในการช้อปหรือซื้อสินค้าไม่นานนัก เพราะเป็นการซื้อแบบเติมเต็ม หรือซื้อเพื่อตอบโจทย์ความสะดวกสบาย
สาขาในรูปแบบใหม่ส่วนใหญ่จะมีร้านกาแฟเพื่อให้ลูกค้าใช้เวลาอยู่ในสาขานานขึ้น ซึ่งนอกจากการนั่งชิลๆ จิบกาแฟแล้ว ยังสามารถเช็กอินและถ่ายรูปเพื่อโพสต์ในโซเชียลมีเดียได้ แน่นอนว่า การอยู่ที่สาขานานขึ้นจะช่วยในเรื่องของการเพิ่ม Engagement ที่ต่อยอดไปสู่การสร้าง Store Loyalty และการปูทางไปสู่การเป็นร้านค้าปลีกที่ลูกค้ารักในระยะยาว....