หลังการเปิดตัวเพียง 3 เดือน Plern มียอดการดาวน์โหลดไปแล้วไม่น้อยกว่า 1 ล้านครั้ง และมียอดสตรีมเพลงภายในแอป ไปแล้วกว่า 6 แสนครั้ง ซึ่งเทียบเท่ากับการเดินเท้าฟังเพลงรอบโลกได้ถึง 72 รอบ และยังพบว่าคนไทยใช้ Plern ฟังเพลงไปแล้วกว่า 20 ล้านครั้ง (ตัวเลขเมื่อเดือน Feb 2022)
อัศวิน กล่าวว่า โอกาสของ Plern อยู่ที่กลุ่มคนใช้สมาร์ทโฟนที่มีมากกว่า 45 - 50 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ ได้ใช้ App Music Streaming เพราะจากการสำรวจมีผู้ใช้งานอยู่ประมาณ 10 ล้านคนเท่านั้น ส่วนคนที่ใช้งานแล้วก็ยังเชื่อว่าจะสามารถจูงใจให้เปลี่ยนมาลองใช้แอปเพลินได้
เป้าหมายของ Plern ในเฟสแรกนั้น ทาง GMM Grammy คาดการณ์ว่าจะมียอดผู้ใช้งาน App ไว้ที่เฉลี่ย 5 ล้านยูสเซอร์ต่อเดือนภายในช่วงหนึ่งปีแรก และมียอดตัวเลขคนฟังเพลงยาวนานขึ้นเป็น 1.23 ชั่วโมงต่อวัน
สำหรับรายละเอียดการพัฒนา Plern ทาง GMM Grammy ไม่ได้ทำคนเดียว หากแต่มีการจับมือกับพาร์ทเนอร์ยักษ์ใหญ่อย่าง Tuned Global เพื่อร่วมกันพัฒนา
“Tuned Global เป็น Australian Based Tuned Global ทำให้ LINE Music ที่ญี่ปุ่น ซึ่งเป็น App Streaming เบอร์ 1 ของญี่ปุ่น Tuned Global ทำให้ Ed Sheeran นักร้องดัง Tuned Global ทำให้ Sony Music App ที่อังกฤษ ดังนั้น Tuned Global เป็นพาร์ทเนอร์ในเชิงเทคโนโลยี เพื่อทำให้เพลินเป็น Global Standard สำหรับ Local Market”
เป้าหมายของ Plern ถูกวางไว้ให้เป็นแอปฟังเพลงที่ตอบโจทย์คนฟังทั่วประเทศไม่ใช่แค่คนเมือง ดังนั้นในส่วนของ Content ทางทีมงานจึงให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือกันระหว่างค่ายเพลงระดับแนวหน้าของประเทศ อาทิ GMM Grammy, บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน), เซิ้งมิวสิก, Top Line Music, Sure Entertainment, เสียงสยามแผ่นเสียง-เทป, ซาวด์มีแฮงเรคคอร์ด, BigLove Smile House, Solution One อาทิ Khotkool Music, Khaosan Group, Mindset Mob, ได้หมดถ้าสดชื่น, พอดีม่วน Studio, บังเอิญมิวสิค, MAN’R รวมถึง Believe และค่าย/ศิลปินอื่นๆ ที่จะตามมาในอนาคต อาทิYoungOhm, Urboy TJ, ไหทองคำเรคคอร์ด, Sing Music, กีตาร์เรคคอร์ด
“เราเน้นเพลงค่ายหลัก เน้น Mass แล้วก็ค่ายเล็กๆ จับพวกวัยรุ่น Urban ในส่วนของการทำ Content จากคนที่เป็นค่ายเพลงก็คงทำ Content แบบธรรมดาไม่ได้ จะมีแบบสนับสนุนศิลปินหน้าใหม่ที่ Platform อื่นจะเรียกว่าแถว 2 แต่เราไม่ได้เรียกแถว 2 เราเรียกว่าศิลปินหน้าใหม่ เพื่อให้กลุ่มนี้มีที่ยืน เราจะมี Shelf ให้ Artist เหล่านี้
เรามี Station Feature ที่เราสร้างขึ้นมา Plern เป็นแอปเดียวในไทยที่มีฟีเจอร์นี้ เหมือนเป็นสถานีกึ่งๆ อัจฉริยะ ในอนาคตมันจะรู้จักเรามากขึ้น เพราะจะมีระบบการเรียนรู้ว่าถ้าเพลงนี้เปิดขึ้นมา เราชอบหรือไม่ชอบ ถ้าเราไม่ชอบ เรากด Skip App จะรู้ว่าเพลงแบบนี้คนนี้ไม่ชอบ แต่ถ้าเรากดโอเค Thumbs Up ให้จะรู้ว่าคนนี้ชอบเพลงทรงนี้ วันข้างหน้าแอปจะเรียนรู้แล้วก็จะเอาเพลงแบบนี้มาเสิร์ฟให้
อันนี้คือสิ่งที่เป็น Station อัจฉริยะที่จะเกิดขึ้นมา เรามีการดึงคนในวงการเพลงมาจัด Playlist ให้ใน Station คนฟังจะไม่รู้ว่าเพลงถัดไปคืออะไร แต่ว่าจัดโดยคนดังๆ เช่น ป๋าเต็ด ในอนาคตก็จะมี Plern Original เหมือน Netflix Original และก็จะมี Content Original ซึ่งเป็นเพลงที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างศิลปินค่ายอื่นๆ เพื่อ Plern เท่านั้น ที่อื่นไม่มี นี่คือมุม Content ที่คิดแบบคนทำเพลง ต้นปี 2022 เพลินจะอัพเกรดให้ผู้เป็นสมาชิกสามารถดาวน์โหลดเพลงแบบ Lossless Quality รวมถึงยังจะมีการเพิ่มฟังก์ชั่น Live Station เข้าไปอีกด้วย”
อัศวิน ยอมรับว่า หากไม่มี GMM Grammy เป็นลมใต้ปีกให้กับ Plern การจะทำตัวเลขให้ได้ถึง 5 ล้านคน ก็คงเป็นเรื่อง “ลำบาก” เพราะการจะเข้ามาในตลาด Music Streaming ต้องมี Content ซึ่ง Content เพลงไทยที่ใหญ่ที่สุดคือ Grammy ดังนั้นถ้าไม่มี Grammy สิ่งนี้จะเกิดได้ยากมาก
“เพราะสายป่านเราไม่ยาวเหมือนบริษัทข้ามชาติ ส่วนเราเป็นบริษัทเล็กๆ ที่หลายค่ายมองว่าไม่ได้มาแข่งขันด้วย ส่วนตัวมองว่า Plern เป็นการทำธุรกิจแบบ Friendnemy ส่วนธุรกิจที่ต้องสนับสนุนก็ทำไป ส่วนธุรกิจต้องที่แข่งขันก็แยกต่างหาก แต่อย่างไรก็ตามเรายังคิดว่าแอป Plern อยู่คนละ League กับรายใหญ่ เหมือนเราเตะบอลคนละถ้วย Inspiration ของเรามาจากธุรกิจ Music Streaming
ในเกาหลีมีแอปฟังเพลงประมาณ 9 แอป เป็นของ Local 8 แอป ส่วนบ้านเรามีแค่ 3-4 แอป ดังนั้นการเป็น App Local แปลว่า เราต้องเข้าใจมากกว่า จึงเป็นที่มาว่า ทำไมเราต้องทำรีเสิร์ช ทำไมเราต้องใช้แอปเป็นภาษาไทย ก็เพื่อให้อินกับคนไทยตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งเราจะไปโปรโมทรากหญ้า ไปออนทัวร์ ไปแคมปัสทัวร์ เพื่อเพิ่มการเข้าถึง”
เบื้องต้น อัศวิน วางสัดส่วนคนฟังของ Plern ไว้ว่าน่าจะมาจากกลุ่ม Urban และกลุ่ม Rural ที่เท่าๆ กันคือ 50/50
ในส่วนของราคาสมาชิก หรือ Plern Premium ทางทีมงานได้ตั้งราคาสมาชิกรายสัปดาห์ไว้ที่ 59 บาท และรายเดือนอยู่ที่ 119 บาท และเพื่อให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ในอนาคตก็จะมีแคมเปญการตลาดชั่นใหม่ๆ ออกมา เช่น มีโปรโมชั่นพิเศษกับลูกค้า AIS ซึ่งเป็นพันธมิตรกันอยู่
“ตลาดไทยคนชอบของฟรี มองว่ารายได้ช่วงแรกๆ 80-90% น่าจะมาจากโฆษณา หรือ Sponsorship ส่วน 10-20% มาจาก Subscription แต่ต่อให้รายได้มาจากโฆษณา ก็จะเป็นโฆษณาที่คั่นระหว่างเพลงไม่ใช่โฆษณากลางเพลง และในอนาคตอาจจะมีโฆษณาในรูปแบบ Tie-in เช่น Branded Station ซึ่งแบรนด์สามารถมาซื้อ Station ได้ เช่น Coke Station ที่พูดถึงเรื่องความสุข เป็นต้น”
ในช่วงแรกของการเปิดตัว Plern จะมีเพลงให้ฟังเฉพาะเพลงไทยและยังไม่มีเพลงสากล ซึ่ง อัศวิน อธิบายว่า จากการทำวิจัย พบว่ากลุ่มเป้าหมายของ Plern นิยมฟังเพลงไทยมากกว่าเพลงสากลจากต่างประเทศจึงอยากเน้นการทำตลาดเพลงไทย เพื่อให้ได้ข้อมูลพฤติกรรมการฟังเพลงของผู้ฟังในช่วงแรกก่อน
“เรื่องแรก คือจากรีเสิร์ชเรารู้ว่า คนไม่ค่อยได้มองเพลงอินเตอร์เท่าไหร่ เรื่องที่ 2 คือ ตลาดอินเตอร์ราคาเพลงค่อนข้างสูง เราเลยคิดว่าโอเค ไม่เป็นไร ถ้าวันหนึ่ง Dynamic มันใช่ เดี๋ยวเราค่อยหาวิธีคุยกับค่ายเพลงใหม่ เอาตัวเลขไป Convince ใหม่”
อัศวิน อธิบายเพิ่มเติมว่า ในอนาคต Business Unit ใหม่นี้จะเป็นตัวเชื่อมโยงธุรกิจในเครือ GMM Grammy มากขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น
1.การขับเคลื่อนธุรกิจเพลงของไทยและ GMM Grammy ไปสู่ New Wave โดยเปลี่ยนตลาดการฟังเพลงใหม่ ให้มีบรรยากาศเหมือนสมัยก่อนที่มีคนเฝ้ารออัลบั้มใหม่ๆ ของศิลปิน
2. นำเอาข้อมูลอินไซด์ไปแชร์ให้กับทั้งศิลปิน และค่ายเพลง เพื่อการทำตลาดที่แม่น และตรงตามความต้องการของคนไทยมากขึ้น
3.การโปรโมทให้ Stakeholder ทั้งศิลปินหน้าใหม่ให้มีโอกาสแจ้งเกิดมากกว่าที่เป็นอยู่ ส่วนผู้ฟังทุกกลุ่มก็จะพยายามดึงให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพของวงการเพลงของไทย
4. ทำให้การเสพดนตรีมีความเท่าเทียม ทั้งกลุ่มผู้ฟังที่เป็นคนเมืองและกลุ่มผู้ฟังในเขตภูมิภาค ด้วยการนำเสนอ Content ที่เข้าถึงทุกกลุ่ม ไม่ใช่ระบุแค่คนเมืองเพียงอย่างเดียว
“เราอยากเอาแนวคิด, ที่มา, และความตั้งใจของ Plern มามานำเสนอว่า เป็นแพลตฟอร์มที่ถูกต้องกับความเป็นไทย ตอนนี้สิ่งที่ท้าทายของเราคืออยากให้คนไทยเปิดใจรับ Plern เราอยากสร้าง Plern ให้เป็นแบรนด์ที่รู้จัก ในปีแรกเราจะทำให้เห็นว่าถ้าคุณชอบเพลง นี่คือแอปของคุณที่เราทำคอนเทนต์พิเศษมาให้คุณแล้ว
ส่วนสเตปต่อไปเราจะสร้าง Brand Value ให้กับ Plern ทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนมุมมองว่าเพลงคือของฟรี ซึ่งเราเชื่อว่าเราสามารถทำให้คนไทยเปลี่ยนมุมมองหรือทัศนคติต่อวงการเพลงได้ เราต้องพยายามสื่อให้เห็นถึงเสน่ห์ คุณค่า เรื่องราวของเพลง ทำให้คนรู้ว่าเพลงของศิลปินไทยก็มีคุณภาพดีได้” อัศวิน กล่าว