หากไล่เลียงความสำคัญของกลยุทธ์ Brand Portfolio Strategy แล้ว จะพบว่ามีมากมาย ไล่ตั้งแต่ การใช้พอร์ตของแบรนด์ที่มีอยู่เข้าไปตอบโจทย์ลูกค้าในตลาดที่มีความซับซ้อน ยิ่งในยุคนี้ ไม่ได้เพียงแค่มีลูกค้าที่หลากหลายเจนเนอเรชั่นเท่านั้น แม้แต่คนที่อยู่ในเจนเดียวกัน อาจจะชอบอะไรที่ไม่เหมือนกันก็ได้
ที่สำคัญ การมีแบรนด์อยู่ในพอร์ตที่หลากหลายแบรนด์นี้ ยังเข้ามาช่วยเสริมในแง่ของหากมีแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งที่อยู่ใน Cycle “ขาลง” แบรนด์อื่นๆ จะสามารถเข้ามาช่วย หรือทดแทนสิ่งดังกล่าวได้อย่างลงตัว
ยิ่งตลาดร้านอาหารยิ่งแล้วใหญ่ เพราะการมี Brand Portfolio ที่แข็งแกร่ง ก็ยิ่งกลายเป็นแต้มต่อในการทำตลาด เพราะเมื่อต้องการขยายเข้าห้างหรือมอลล์ การมีแบรนด์ร้านอาหารที่หลากหลายอยู่ในพอร์ต ย่อมจะสามารถเลือกแบรนด์หรือประเภทร้านอาหารให้แมตกับกลุ่มเป้าหมายของห้างหรือมอลล์นั้นๆ ได้
ยิ่งพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันที่มี Demanding ค่อนข้างสูง และเลือกรับประทานอาหารที่หลากหลาย ไม่ซ้ำกันในแต่ละวันหรือแต่ละสัปดาห์ การมีแบรนด์และประเภทร้านอาหารที่สามารถตอบโจทย์ได้ ย่อมได้เปรียบ ยิ่งในปัจจุบัน เดลิเวอรี่ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ก็ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญ
ทำให้ เราได้เห็นการขยายสาขาในรูปแบบของ “มัลติ แบรนด์” หรือการเอาแบรนด์มากกว่า 1 แบรนด์ไปเปิดในร้านทั้งในมอลล์และนอกมอลล์กันมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ในเรื่องดังกล่าวนี้
สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ หลายครั้งที่แบรนด์ที่เป็น “พี่ใหญ่” ในพอร์ต สามารถเข้ามาทำหน้าที่ในการเป็น “พี่ดัน” เพื่อจูงแบรนด์น้องที่เพิ่งถูกส่งเข้าตลาดให้สามารถแจ้งเกิดได้ ภาพสะท้อนในเรื่องนี้ก็คือ การทำตลาดของค่ายไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป ที่ในช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา มีการแตกซับ แบรนด์ ใหม่ “Chick-A-Boom” (ชิค-อะ-บูม) ซึ่งเป็นการต่อยอดมาจากกลุ่มเมนู “ปีกไก่” ของตัวเอง