คุณวิทวัส ชัยปาณี Worldwide Co-Chairman บริษัท ครีเอทีฟจูซ เวิลด์กรุ๊ป จำกัด ผู้คร่ำหวอดในวงการโฆษณาและสื่อสารการตลาดของไทยมานานกว่า 30 ปี ได้เขียนบทความบอกเล่าถึง 5 ขั้นตอน สำหรับการแก้ปัญหา “Crisis Management” เพื่อเป็นกรณีศึกษาในยุคที่โซเชียลมีเดียกำลังเป็นที่นิยม โดยมีเนื้อหาดังนี้
1. ขอโทษทันที
หากศักดิ์ศรีค้ำคอ ขอโทษใครไม่เป็น หรือมัวแต่เข้าข้างตัวเองว่าไม่ผิด หรือคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก คงไม่ลุกลามหรอก ถ้าคิดแบบนี้ "หายนะจะตามมา" เพราะในยุคโซเชียลมีเดียอันทรงพลังนี้ ต้องออกตัวเร็วมากๆ ไม่ใช่รอฟังจนกระแสแรงแล้วเห็นว่าไม่รอดแน่จึงออกมาเอ่ยคำว่า “ขอโทษ” เพราะจะโดนตราหน้าทันทีว่า ยอมขอโทษเพราะแพ้กระแส หรือเพราะทัวร์กำลังลงแต่ไม่รู้สึกผิดอย่างจริงจัง ถ้าทำแบบนี้จะไม่มีใครให้อภัย
ยุคนี้อย่าเงียบ อย่าชักช้า เพราะทฤษฎีเรื่อง "ใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว" ใช้ไม่ได้แล้ว นั่นมันทฤษฎียุคสื่อเก่า ที่ใช้เงินใช้สายสัมพันธ์กดข่าวทีวีกับหนังสือพิมพ์ไว้ แต่ใช้ไม่ได้กับสื่อในยุคดิจิทัล หรือโซเชียลมีเดียแบบที่เห็นในปัจจุบัน
2. แก้ไขไม่ใช่แก้ตัว
อย่าได้พูดเด็ดขาดว่า ไม่ได้เจตนา ไม่ได้ตั้งใจ ผู้บริหารไม่เห็นมาก่อน ไม่ทราบ และอย่าได้ไปพูดว่าคนอื่นผิด หรือไปบังคับให้เขาออกมารับผิดแทน เพราะอย่างไรเราก็ผิดที่ปล่อยให้เรื่องเกิดขึ้น อย่าไปพยายามอธิบายว่า มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ผิดพลาดที่ใครตรงไหน ซึ่งดูเหมือนแก้ตัวว่า ฉันไม่ผิดนะ คนอื่นผิด ต้องรับไปเลยว่า อย่างไรเราก็ผิดที่ละเลยให้เรื่องนี้เกิดขึ้น และบอกให้ชัดว่า เราจะแก้ไขอย่างไร และต่อไปจะไม่ให้เกิดอีก
ถ้าพูดว่า "ผู้บริหารไม่เคยทราบจริงๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ถ้าทราบก็ต้องไม่อนุมัติแน่นอนเพราะขัดกับนโยบายขององค์กร" กับการพูดว่า "ผู้บริหารผิดอย่างปฏิเสธไม่ได้เลยที่ปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ เราต้องทบทวนแก้ไขทุกสิ่งทันทีเพื่อจะไม่ให้เกิดขึ้นอีก" ลองคิดดูว่า แบบไหนจะได้รับการอภัย
3. คนบนสุดต้องออกหน้าเอง
กรณีที่ปัญหาขึ้นมาแล้ว CEO หรือกรรมการผู้จัดการ หรือเจ้าของแบรนด์ต้องออกโรงเอง ไม่ใช่ใช้ระดับรองๆ หรือคนที่ทำผิดลงมา ยิ่งใช้คนตำแหน่งเล็กลงเท่าไหร่จะยิ่งแย่เท่านั้น จะได้คะแนนสูงกว่าถ้าเปิดหน้ากล้ารับผิดเอง พูดไปเลยว่า ไม่ว่าเรื่องจะเกิดขึ้นได้อย่างไรหรือจากใคร ผม/ดิฉันต้องรับผิดชอบ และขอรับผิดเรื่องนี้เองคนเดียว และจะปรับปรุงทั้งตัวเอง ทั้งระบบภายในให้ดีขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุแบบนี้อีก
4. ลงโทษและปลอบใจ
ถ้าอยากซื้อใจทั้งคนนอก (ลูกค้า) และคนใน (พนักงาน) เมื่อเจอวิกฤตหนักมากๆ (ย้ำ! คำว่า หนักมากๆ ไม่ได้หมายความถึงต้องทำในทุกกรณี) ต้องลงโทษตัวเอง และชวนคนเกี่ยวข้องมารับโทษด้วยกัน หรือถ้าใจถึงหน่อย ประกาศลาออกจากตำแหน่ง โดยตั้งรักษาการ และอีก 6 เดือน ค่อยกลับมา คนก็ลืมและให้อภัยไปแล้ว แถมได้ความเด็ดขาดกล้าหาญที่ออกรับผิด จะมีกระแสเรียกร้องอยากให้กลับมาดำรงตำแหน่งเดิม แต่ต้องพูดย้ำด้วยว่า แม้ลาออกก็จะไม่หนีปัญหาแต่จะรับผิดชอบดูแลเรื่องนี้ต่อไปจนจบ จะเป็นที่ปรึกษาให้ผู้รักษาการจนกว่าจะแก้ไขปัญหา หรือมีการป้องกันเรียบร้อยแล้ว
ส่วนการปลอบใจผู้เสียหายก็ต้องรีบทำควบคู่กันไป เช่น ลูกค้าได้สินค้าเสีย หรือมีปัญหา 1 ชิ้น ต้องให้คืนกลับ 100 ชิ้น หรือให้คูปองลดราคา คูปองแลกฟรี ทยอยให้ก็ได้แต่ต้องครบ รักษาทั้งฐานลูกค้า ไม่ให้เขาหนีไปไหน และรักษาน้ำใจ
5. ติดตามผล
ตามเช็คความรู้สึกของผู้คน และตามสถานการณ์ในโซเชียลมีเดียอย่างละเอียดและจริงจัง ถ้าไม่ดี ยังหยุดไม่ได้ ต้องมีวิธีการสำรองถัดๆ ไป เพื่อการสร้างความน่าเชื่อถือ แสดงความรับผิดชอบ ที่ต้องสัมผัสได้ถึงจริยธรรมอย่างแท้จริง