“Amado Card ยังสามารถเชื่อมต่อไปสู่เรื่องของการสร้างฐานแฟนคลับให้กับแบรนด์ต่างๆ ได้อีกด้วย เพราะปัจจุบันอมาโด้กลายเป็นช่องทางการขายที่สำคัญให้กับ FMCG ยักษ์ใหญ่หลายๆ แบรนด์ ที่ไม่ใช่ว่าใครก็สามารถทำได้ แต่ก็ยังถือเป็นความท้าทายยังเป็นโลกใบใหม่สำหรับเรา ทำให้เราได้เรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภค และสามารถพัฒนาตัวเองได้เร็วขึ้น ที่สำคัญการนำดาต้าเรื่องการบริการมาใช้ทำให้เรารู้ว่า กลุ่มไหนชอบใช้บริการแบบไหน ถ้าเขาอนุญาตให้เรานำเสนอสินค้าก็จะทำให้มีการสั่งซื้อซ้ำในตัวเลขที่ค่อนข้างสวย วันนี้เรากำลังสร้างโมเดลที่ Mutant ตัวเองค่อนข้างมาก เมื่อก่อนเราอาจต้องขายของ 10 ล้านบาท เพื่อให้มีกำไร 8 แสนบาท แต่ปัจจุบันด้วยโมเดล Subscription และการนำเรื่องของ Data Analyzed เข้ามาใช้ก็ทำให้เราสามารถขายของ 2 ล้านบาท แต่ยังได้กำไร 8 แสนบาทเหมือนเดิม ซึ่งเป็นการลด Waste ในเรื่องค่าการตลาดที่สูญเปล่าออกไป”
วันนี้ อมาโด้ ถือเป็นองค์กรที่มีความแข็งแกร่งจากการเป็นองค์กรในแบบ Algorithm Online ที่มีการจัดทำระบบข้อมูล Big Data มานานกว่า 3 ปี ทำให้สามารถสร้างการสื่อสารที่ส่งตรงถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีแนวทางในการขับเคลื่อนธุรกิจอยู่บน Core Business ใน 3 เรื่องหลัก คือ R&D, Distribution Channel และ Data Driven ขณะเดียวกันก็สร้างความแข็งแกร่งให้กับ Ecosystem ที่เป็นเครือข่ายของช่องทางการขายต่างๆ ได้แก่
ดีลเลอร์และออนไลน์ สามารถสร้างรายได้อยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาทต่อเดือน แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา ตลาดจะหยุดชะงักไปกว่า 1 ปี จากภาวการณ์แข่งขันที่ทำให้ค่าการตลาดออนไลน์เพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้ยอดขายลดลงไปกว่าครึ่ง แต่ก็มีแนวโน้มการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น คาดว่าจะมียอดขายกลับมาเท่าเดิมในไตรมาส 3 ของปีนี้
ทีวีช้อปปิ้งเป็นช่องทางหลักที่อมาโด้ยังคงรักษาระดับการสร้างรายได้อยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาทต่อเดือน สำหรับสถานการณ์ในปีนี้จะเป็นความท้าทายของเจ้าของเวลามากกว่าผู้เช่าช่วงเวลา เนื่องจากคนเริ่มกลับไปทำงาน ซึ่งอมาโด้เน้นการใช้เรตติ้งอยู่แล้ว โดยที่ผ่านมายังสามารถคอนโทรลยอดขายได้อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากมีการพัฒนา Content และรูปแบบการขายอย่างต่อเนื่อง
ร้านค้าปลีกและโมเดิร์นเทรดยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่ม Specialty Store ซึ่งเป็นสินค้าฝากขาย (Consignment) อย่างบู๊ทส์ วัตสัน เซเว่น อีเลฟเว่น และอีฟแอนด์บอย มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ปีนี้จึงเน้นไปที่เรื่องของการฝากขายมากกว่าการเปิดหน้าร้านของตัวเอง ทำให้อมาโด้มีการลดจำนวนสาขาที่เป็นคีออสจาก 40 สาขา เหลือเพียง 10 สาขา ในส่วนของพื้นที่ที่หมดสัญญาเช่าเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา
“เรามีการทรานส์ฟอร์มจากขายส่งมาเป็นขายปลีกแบบฉับพลัน ปีนี้จึงคาดว่าจะรักษาระดับยอดขายอยู่ที่ประมาณ 2,400 ล้านบาท เท่ากับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปีที่รายได้ในส่วนของดีลเลอร์และออนไลน์และทีวีช้อปปิ้งมีการขยับสัดส่วนจากเดิม 65:35 มาเป็น 50:50 โดยดีลเลอร์และออนไลน์มียอดขายอยู่ 1,200 ล้านบาท และทีวีช้อปปิ้งมีรายได้ประมาณ 100 ล้านบาทต่อเดือน จบที่ 1,200 ล้านบาทเช่นกัน”
สำหรับแผนงานในปีนี้ คุณธนาตรัยฉัตร มองว่า ทางอมาโด้จะกลับมาเน้นการจัดการภายในองค์กรให้มีความแข็งแรง รวมถึงการดูแลกลุ่มลุกค้าประจำ และในส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์จะให้ความสนใจในเรื่องของสมุนไพรเป็นหลัก รวมถึงการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มคอลลาเจน ซึ่งอาจต้องใช้เวลากับการทำวิจัย 6 เดือน - 1 ปี
นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ อมาโด้จะมีบิ๊กเซอร์ไพรส์ ด้วยการ Collaboration ร่วมกับแบรนด์ชั้นนำ ในกลุ่ม FMCG ไม่ต่ำกว่า 4 เจ้า ถือเป็นโมเดลใหม่ที่เกิดจากความสำเร็จในการเป็นช่องทางการจำหน่ายให้กับสินค้า FMCG ในช่วงที่ผ่านมา