คาดการณ์กันว่าประเทศไทยมีคนที่ออกกำลังกายด้วยการวิ่งมากถึง 13 ล้านคน แถมมีตัวเลขการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปีเฉลี่ยประมาณ 5-10% ต่อปี สิ่งที่ตามมาก็คือตลาดอุปกรณ์การวิ่งที่มีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาทนั้นเติบโตอย่างต่อเนื่องตามจำนวนนักวิ่ง
ยิ่งมาในระยะหลังๆ นักวิ่งมือใหม่ต่างก็พยายามพัฒนาศักยภาพการวิ่งของตัวเองให้สูงขึ้น โอกาสของรองเท้าวิ่งที่เป็น Specialty Brand จึงมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน
เมื่อมารวมกับวิกฤต COVID-19 ที่ทำให้คนหันมาใส่ใจสุขภาพและออกกำลังกายด้วยการวิ่งมากขึ้น เพราะการวิ่งสามารถทำได้คนเดียวไม่ต้องใกล้ชิดกับใคร จึงทำให้การวิ่งเป็นสิ่งที่คนนิยมเพิ่มมากกว่าเดิม
เจาะโครงสร้างตลาดรองเท้าวิ่ง
ก่อนจะลงลึกในรายละเอียดต้องเข้าใจตลาดชุดและอุปกรณ์กีฬาวิ่งก่อนว่าสามารถแบ่งโครงสร้างหลักออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ด้วยกัน คือแบรนด์ที่เป็นเมนสตรีมมีสินค้าครอบคลุมแทบจะทุกประเภทกีฬา อาทิ Nike, Adidas, Under Armour, Asics, New Balance ฯลฯ กับแบรนด์ที่เป็น Specialty เน้นสินค้าที่เกี่ยวกับการวิ่งมากหน่อย อาทิ Saucony, Hoka, Kailas, Altra, On, Brooks ฯลฯ
แน่นอนว่าความได้เปรียบของแบรนด์ใหญ่นั้นอยู่ที่ความมีชื่อเสียง และงบประมาณในการทำตลาดที่มาก กว่าแบรนด์ทางเลือก จึงเป็นที่รู้จักและคุ้นเคยกับผู้บริโภค ส่วนจุดเด่นของรองเท้าแบรนด์ทางเลือกนั้นจะอยู่ที่การมีโฟกัสเฉพาะไปที่ประเภทของกีฬานั้นๆ ทำให้มีความน่าเชื่อถือเฉพาะด้าน
เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกใจที่เมื่อคนทั่วไปตัดสินใจจะเริ่มออกกำลังกายด้วยการวิ่ง แบรนด์ร้องเท้ากีฬาที่เป็นเมนสตรีมจึงเป็นทางเลือกแรกๆ ของคนส่วนใหญ่ เหตุผลมาจากความคุ้นเคย
แต่พบว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตลาดรองเท้าวิ่งเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด เพราะมีตัวแทนผู้นำเข้าแบรนด์รองเท้าวิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก และมีแบรนด์รองเท้าวิ่งเฉพาะทางเข้ามาให้นักวิ่งได้เลือกซื้อหามากมาย
พรศักดิ์ ชินวงศ์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เรฟ อีดิชั่น จำกัด อธิบาย การเปลี่ยนแปลงของปรากฏ การณ์นี้ว่ามาจากประเทศไทยมีนักวิ่งที่วิ่งอย่างจริงจังมากขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก ทำให้ตลาดร้องเท้าวิ่งเฉพาะทางเติบ โตอย่างมีนัยสำคัญ
“ตลาดรองเท้าวิ่งตอนนี้เป็นช่วงเวลาของแบรนด์รอง เพราะแต่ละแบรนด์ต่างก็มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นของตัวเอง ประกอบกับการเติบโตของช่องทางการขายออนไลน์ที่มาแรง ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงแบรนด์ทางเลือกได้ง่ายขึ้น”